E-DUANG : “รัฐประหาร” กลายเป็น “ทางออก” เมื่อประเทศ ประสบ วิกฤตการเมือง

มีคำถามเกิดขึ้นมากมายเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม เดินทางมาถึง เป็นคำถามพุ่งตรงไปสู่การประเมินผล 8 ปีของสังคมไทยภายหลังการรัฐประหาร

เป็นคำถามที่ก่อให้เกิดคำตอบที่แตกต่างเป็นอย่างมากระหว่าง 2 คำตอบ

1 จากฝ่ายที่ชื่นชม และ 1 จากฝ่ายที่ไม่ชื่นชม

ฝ่ายที่ไม่ชื่นชมมิได้มีเพียงแต่จากคนซึ่งเคยขัดแย้งกันตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 หากแต่แม้กระทั่งผู้ที่เคยมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 ก็ปรากฏ

ดังเห็นได้จากบรรดากลุ่มที่ถูกเรียกว่าเป็น”สลิ่มกลับใจ” ไม่ว่าที่มีบทบาทอยู่ในพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าที่มีบทบาทอยู่ในพรรคก้าวไกล

ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่ยังชื่นชมและให้การรับรองก็ยังเป็นคน หน้าเก่าซึ่งเคยมีบทบาทในฐานะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และในฐานะมวลมหาประชาชนกปปส.

ไม่ว่าจะเป็น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.จำ ลอง ศรีเมือง ไม่ว่าจะเป็น นายเสรี วงศ์มณฑา

แต่น่าแปลกที่ไม่มีการจัดงานเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จ

 

ตามปรกติเมื่อคณะรัฐประหารสามารถยึดอำนาจและครองอำนาจทางการเมืองจากเดือนพฤษภาคม 2557 กระทั่งถึงเดือน พฤษภาคม 2565

โดยทั่วไปแล้ว ผู้อยู่ในอำนาจจากกระบวนการรัฐประหารก็สมควรจะมีการเฉลิมฉลอง

อย่างน้อยๆก็น่าจะมีการสวนสนามเพื่อยืนยันชัยชนะ

แต่นี่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประ หาร ไม่เพียงแต่ไม่มีการจัดงานเฉลิมฉลอง หากแม้กระทั่งแถลงถึงผลงานและความสำเร็จก็ไม่มี

ตรงกันข้าม บรรดาคนที่มีส่วนร่วมในการทำรัฐประหารกลับมีภารธุระที่จะต้องตอบคำถาม และหลีกเลี่ยงการเผชิญกับคำถาม ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม

บางคนถึงกับพยายามลบความทรงจำในเรื่อง”รัฐประหาร”

 

ไม่มีใครสามารถให้คำมั่นได้ว่า รัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีกในสังคมไทย เพราะเมื่อเกิดสถานการณ์ร้อนแรงขึ้นมาคราใด กลิ่นของรัฐประหารก็โชยกรุ่นทุกครั้ง

สะท้อนให้เห็นสำนึกที่ดำรงอยู่หนักแน่นภายในสังคม

นั่นก็คือ มีความรู้สึก”ร่วม”ว่าเมื่อเกิดปัญหาในทางการเมืองก็มักจะหาทางออกโดยกระบวนการ”รัฐประหาร”

เมื่อเป็นมาแล้ว 13 ครั้งเหตุใดจะไม่มีครั้งที่ 14 เล่า