E-DUANG : ผละสะเทือน จากกรณี “ปริญญ์” การปะทะ เจตนคติ ในทาง”เพศ”

พลันที่สถานการณ์ว่าด้วย”ปริญญ์”ระเบิดขึ้น สถานการณ์ว่าด้วย”แตงโม”ก็ค่อยจางหายจากไป

“สน.ลุมพินี” กลายเป็นจุดร่วมเหนือกว่า”สน.นนทบุรี”

ยิ่งเมื่อหญิงสาวผู้เคราะห์ร้ายขยายตัวจาก”นักศึกษาราม”ไปสู่ผู้สมัครสก.”รวมไทยยูไนเต็ด” และมีการเปิดเบาะแสไปยังดาราและนักแสดงในแวดวงบันเทิง

ยิ่งทำให้นามของ”ปริญญ์” กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ เริ่มจากสถานการณ์ที่อังกฤษในวัย 25 เรื่อยมาจนถึงภายในพรรคประชาธิปัตย์เอง

สีสันอัน”ปริญญ์”ได้ก่อขึ้นโดยมีจุดเริ่มจาก”ซาโตชิ”จึงเข้ากับ บรรยากาศแห่ง”คริปโตเคอเรนซี่” อันถือได้ว่าเป็นการใช้เทคโนโลยี ในยุค”ดิจิทัล”เข้าแสวงหาผลประโยชน์ทาง”เพศ”อย่างกลมกลืน

ความแหลมคมเป็นอย่างมาก คือ สถานการณ์ได้กลายเป็นบท

เรียนทาง”เพศศึกษา”ได้อย่างโลดโผนและเป็นพื้นที่ในการปราบคนดังในแวดวงทางการเมืองได้อย่างชะงัดยิ่ง

ไม่ว่าจะเป็น”เต้ พระรามเจ็ด” ไม่ว่าจะเป็น”ป๋าวัน บางบอน”

 

ยิ่งเมื่อ”ทนายตั้ม ษิทรา”ออกมาเปิดประเด็นในวันแรกโดยระบุเพียงนำร่องด้วย”รองหัวหน้าพรรค” ยิ่งทำให้คนซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค และ คนซึ่งเป็นเซเล็บถอนหายใจอย่างโล่งอก

มิได้ถอนหายใจอย่างธรรมดา หากแต่ยังปล่อย”ลวดลายลีลา”ออกมาผ่านพื้นที่”ออนไลน์”

ท่วงทำนองไม่แตกต่างไปจากนักการเมืองบางคนของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นสส.ในกรรมาธิการพัฒนาสตรี

นั่นก็คือ ตั้งข้อสงสัยต่อหญิงสาวผู้เคราะห์ร้าย นั่นก็คือ มองว่า เป็นการเล่นเกมทางการเมือง เพื่อทำลายนักการเมือง ทำลายพรรค

โดยมองข้ามชะตากรรมของ”หญิงสาวผู้เคราะห์ร้าย”

 

อย่าได้แปลกใจหากว่าคล้อยหลังปฏิกิริยาเช่นนั้นจากนักการเมืองชาย จากนักการเมืองหญิง ทั้งภายในพรรคประชาธิปัตย์และภายนอกพรรคประชาธิปัตย์

สถานการณ์”ทัวร์ลง”จะกระหน่ำตามเหมือน”มรสุมโลหิต”

สะท้อนให้เห็นการปะทะในทางความคิดในยุค”อะนาล็อก”กับในยุค”ดิจิทัล”อย่างเด่นชัด

มองข้ามทัศนะใหม่ต่อ”สตรี” ทัศนะใหม่ต่อความหลากหลาย