E-DUANG : ยอดคำเท่ จากปาก นักการเมือง ผลสะเทือน ต่อคะแนน เลือกตั้ง

ในสนามการเลือกตั้งทุก”คำพูด”อันเปล่งประกาศออกมา ไม่ว่าบนเวทีปราศรัย ไม่ว่าในระหว่างการแถลงและให้สัมภาษณ์

ล้วนมี”อิทธิพล” และทรง”ความหมาย”เป็นอย่างสูง

อย่างเช่นคำพูดของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า บนเวทีปราศรัยที่สงขลา อย่างเช่นการให้สัมภาษณ์ของ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ต่อรายการข่าวรายการหนึ่งทางโทรทัศน์

คล้อยหลังจากการปราศรัยเพียงไม่กี่ชั่วโมงวลีที่ว่า”ต้องมีกะ ตังค์” ก็กลายเป็นไวรัล แพร่กระจายจากบนเวทีไปในสังคมออนไลน์ ด้วยความคึกคัก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เช่นเดียวกับที่ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ตั้งข้อสังเกตของพรรคพลังประชารัฐในการส่ง นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ลงสมัครแทน นายสิระ เจนจาคะ

ผลสะเทือนเฉพาะหน้าคือมีการเสนอเรื่องให้กกต.พิจารณาว่า

ขัดต่อกฎและกติกาที่กกต.กำหนดไว้ในการเลือกตั้งหรือไม่ ไม่ว่าจะจากพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะจากพรรคพลังประชารัฐ

ที่สำคัญตัวผู้พูดก็ตกเป็น”จำเลย”ในทาง”สังคม”โดยพลัน

 

คำถามที่ตามมาก็คือ การพูดของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า มีเป้าหมายใดดำรงอยู่ การพูดของ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี มีเป้าหมายดำรงอยู่

ยิ่งกว่านั้น การสำแดงออกอย่างห้าวหาญเช่นนี้จะประสบผล สำเร็จและก่อผลเสียในทางการเมืองตามมา

เป้าหมายของ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อาจต้องการแสดง ให้เห็นคุณภาพทางการเมืองที่พรรคกล้าต้องการ และเพื่อประกบชน กับคนของพรรคพลังประชารัฐอันเป็นตัวเก็งในพื้นที่

เป้าหมายของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อาจต้องการแสดงจุดต่างระหว่างคนของพรรคพลังประชารัฐกับคนของพรรคการเมืองอื่น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่วงทำนองในแบบ”ประชาธิปัตย์”

 

ยอดคำเท่จากปาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จะส่งผลอย่างไรในทางการเมือง ยอดคำเท่จากปาก นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี จะส่งผล อย่างไรในทางการเมือง

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นและแพร่กระจายอาจเป็นอุณหภูมิหนึ่ง

แต่ผลอันเป็นคำตอบในลักษณะชี้ขาดอย่างแท้จริงย่อมอยู่ที่คะแนนที่จะปรากฏออกมาจากการตัดสินของประชาชน

และนั่นก็จะเป็น”บทเรียน”อันทรงคุณค่ายิ่งในทางการเมือง