E-DUANG : บรรทัดฐาน ธรรมนัส พรหมเผ่า กับ การตัดสินใจ ของคนสงขลา

คำปราศรัยของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า บนเวทีหาเสียง เขต 6 สงขลา มากด้วยความร้อนและสะท้อนสภาพความเป็นจริงทางการ เมืองออกมาได้อย่างล่อนจ้อน

ล่อนจ้อนทั้งในด้านของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ล่อนจ้อนทั้งในด้านของมวลชนที่ส่งเสียงขานรับ

เพราะบรรทัดฐานอัน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ตั้งเอาไว้สำหรับนักการเมืองที่อาสาตัวลงสมัคร ส.ส. ข้อที่ 1 จะต้องมีชาติตระกูล และข้อที่ 2 “ต้องมีตังค์”

ต้องยอมรับว่าบรรทัดฐานนี้เริ่มต้นและสอดรับกับสภาพความเป็นจริงในตัวของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ครบถ้วน ไม่ว่าจะเรื่องของ ชาติตระกูล ไม่ว่าจะเรื่องของเงิน

นี่ย่อมมิได้เป็น “ความลับ” เป็นความรับรู้ร่วมกันทั้งจากพรรค ประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐ

ยิ่งกว่านั้น ยังได้รับการขานรับอย่างคึกคักจาก”มวลชน”

เมื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ปล่อยยอดคำเท่ในเรื่อง”ต้องมีตังค์”ออกไป เสียงโห่ร้องจากมวลชนข้างล่างก็อื้ออึงตามมา

 

ต้องยอมรับว่าชาวปักษ์ใต้เป็นมวลชนที่มีความภักดีกับพรรคประชาธิปัตย์มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ไม่ว่ายุค นายชวน หลีกภัย ไม่ว่ายุค นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์

ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ก็ถือตนว่าเป็น”สถาบัน”ทาง การเมืองที่ยึดมั่นในประชาธิปไตย”สุจริต”

ไม่มีการซื้อสิทธิ์ ไม่ยอมให้มีการขายเสียง เพราะนี่คือความภูมิใจของ นายชวน หลีกภัย ตั้งแต่เป็นส.ส.เมื่อปี 2512 และต่อเนื่อง กระทั่งนั่งตำแหน่งประธานสภาเป็นสมัยที่ 2

นายชวน หลีกภัย แม้ว่าจะมาจากชาติตระกูลที่ดี แต่ก็ต้องยอม รับว่าเป็น ส.ส.ที่ยากจน นั่นก็คือเป็นคนไม่มีเงินเติบโตมาจากอยู่วัด

ฐานะ นายชวน หลีกภัย จึงไม่เข้าทาง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

 

การประกาศบรรทัดฐานทางการเมืองจากปาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ณ เบื้องหน้ามวลชนของพรรคพลังประชารัฐ ที่ เขต 6 สงขลา จึงมากด้วยความท้าทายเป็นอย่างสูง

ไม่เพียงแต่ท้าทายต่อบรรทัดฐานการเมืองพรรคประชาธิปัตย์

หากที่สำคัญและแหลมคมมากยิ่งกว่านั้นก็คือ ท้าทายต่อการตัดสินใจของชาวสงขลาผู้มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งอีกด้วย

ผลการเลือกตั้งในวันที่ 16 มกราคมจึงเท่ากับเป็น”คำตอบ”