E-DUANG : ปรากฏการณ์ ตาสว่าง ความคิด ท่ามกลาง การเคลื่อนไหว ต่อสู้

กรณีสลายการชุมนุมชาวจะนะบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลได้ทวีความร้อนแรงทางการเมือง และทำให้ความสนใจต่อการต่อสู้ของ ชาวบ้านในพื้นที่มีความสำคัญ

เหมือนที่ชาวบ่อนอก หินกรูด เคยออกมาปกป้องบ้านเกิด เหมือนที่ชาวบางกลอยได้ออกมาย้ำเตือนความหมาย

เป็นเรื่องเฉพาะส่วน แต่เป็นเฉพาะส่วนที่สะท้อนภาพใหญ่

สะท้อนให้เห็นว่าอำนาจในการตัดสินใจต่อแต่ละโครงการมิได้ อยู่กับผลประโยชน์ของชาวบ้าน หากแต่ถูกเนรมิตและลอยมาจากส่วนกลาง

ตรงนี้ตีกระทบเข้ากับโครงสร้างแห่งความเป็น”รัฐราชการรวม ศูนย์”อย่างเด่นชัด

ยิ่งหากศึกษาถึงกระบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมก็จะยิ่งสะท้อนให้เห็นลักษณะพลิกผันและแปรเปลี่ยนในทางความคิด

ที่ยืนยันอาการอย่างที่เรียกว่า”ตาสว่าง”ในทางการเมือง

หากพิจารณาผ่าน”ตัวละคร”ที่ออกมาเคลื่อนไหวก็จะสัมผัสได้อย่างเป็นระบบ เป็นกระบวนการ

ขอให้ดูจากตัวละครหนึ่ง นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณ ประสานเข้ากับอีกตัวละครหนึ่ง นายบรรจง นะแส ก็จะรับรู้ได้ในพัฒนาการและการเปลี่ยนผ่านในทางความคิด

ไม่ว่า นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณ ไม่ว่า นายบรรจง นะแส ล้วนเคยมีส่วนในการเคลื่อนไหวตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

ความโน้มเอียงของพวกเขาคือ ความโน้มเอียงไปทางพันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และรวมถึงการปรากฏขึ้นของมวลมหา ประชาชนกปปส.

แต่มาถึง ณ เดือนธันวาคม 2564 พวกเขาสัมพันธ์แนบแน่นอยู่กับพี่น้องชาวจะนะที่ออกมาต่อต้านโครงการนิคมอุตสาหกรรม

กลายเป็นร่วมทางไปกับคณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล ใกล้ชิด

ไม่ว่า นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณ ไม่ว่า นายบรรจง นะแส จึงดำเนินการ อย่างเดียวกับพี่น้องจะนะเหมือนเป็นเนื้อเดียวกัน และพูดภาษาไม่ แตกต่างไปจากคณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล

และก็ถอยห่างออกจาก”พรรคประชาธิปัตย์”ยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้น

สถานการณ์แต่ละสถานการณ์จึงไม่เพียงแต่จะสร้างวีรบุรุษ หากแต่ยังคั้นและกลั่นกรองคนให้บังเกิด”ตาสว่าง”

เปลี่ยนข้าง เปลี่ยนศัพท์และสำนวนเมื่อเปล่ง”คำขวัญ”