E-DUANG : จากปรากฏการณ์ 11 พฤศจิกายน ถึง การเคลื่อนไหว 14 พฤศจิกายน

จำเป็นต้องมองปรากฏการณ์เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน กับ ปรากฏการณ์เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน อย่าง”นักสังเกตการณ์”

เป็นการ”สังเกตการณ์”ในแบบของ”คนเสมอนอก”

กระบวนการในการ”สังเกตการณ์”ที่ดีเป็นอย่างยิ่ง นั่นก็คือ จับผลสะท้อนและแรงสะเทือนตามมา

น่าสังเกตว่า ผลสะเทือนจากการอ่านคำวินิจฉัยของตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน มีทั้งที่คนชโยโห่ร้องด้วย ความสมหวังตามที่ตั้งใจ

และทั้งคนที่หงุดหงิด รู้สึกไม่พอใจ แต่ไม่อาจแสดงออกได้อย่าง ฉับพลันทันใด เพราะว่าเป็นคำวินิจฉัยของ”ตุลาการ”จากศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีผลผูกพันในทุกองค์กร

อาจมีเพียงผู้ถูกกล่าวหาและตัวแทนของผู้ถูกกล่าวหาจำนวน หนึ่งที่แสดงความหงุดหงิดไม่พอใจตั้งแต่ก่อนการอ่านคำวินิจฉัย

และเกิด”ปฏิกิริยา”ร่วมไปกับ”เยาวชน”ที่มารอรับฟังการอ่าน

และเมื่อถึงการเคลื่อนไหวในวันที่ 14 พฤศจิกายน ทุกความรู้สึกที่เก็บกดเอาไว้ก็ปะทุออกมาจนหมดสิ้น

 

มีคนชมชอบกับคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน ทั้งเป็นความชมชอบซึ่งเปี่ยมด้วยความพร้อมที่จะขยายผลออกไปสู่การปฏิบัติต่อเนื่อง

เห็นได้จากการออกมาคิดบัญชีกับพรรคการเมืองบางพรรค เห็นได้จากการคาดหมายว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป

กระบวนการที่ชมชอบและเห็นคล้อยตามต่อคำวินิจฉัยไปไกลถึงขนาดที่พร้อมจะเล่นงานคนที่เคยเข้าร่วมในการชุมนุม เคยมีส่วน แม้กระทั่งการเป็น”นายประกัน”ให้กับผู้ถูกจับกุม

กระทั่ง มีการคาดหมายว่าหากการขยายผลได้รับการขานรับก็จะมีผู้ต้องหาเป็นเรือนแสน 

เพียงผู้ร่วมลงชื่อยกเลิก 112 ก็มากกว่า 2 แสนไปแล้ว

 

เวลาเพียงไม่ถึงสัปดาห์ยากเป็นอย่างยิ่งว่าสถานการณ์จากการอ่านคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะเติบใหญ่และขยายตัวไปเช่นไร เป็นการทำให้ปัญหาจบหรือเริ่มต้นขึ้นบทใหม่

เป็นบทใหม่ของการยุติ หรือเป็นบทใหม่ในปมประเด็นใหม่

พลันที่สัมผัสได้จากปรากฏการณ์จากแยกปทุมวันไปยังสถานทูตเยอรมนีในวันที่ 14 พฤศจิกายน ก็เริ่มมองเห็นคำตอบ

เป็นคำตอบแห่งการเริ่มบทใหม่ในการยกระดับความขัดแย้ง