E-DUANG : ปฏิกิริยา อันเท่ากับ บทวิพากษ์ การเมืองยุค ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เหตุใดปฏิกิริยาของ นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ที่แสดงออกต่อผลของโพลจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จึงส่งผลสะเทือนลึกซึ้งและกว้างขวางยิ่งในทางการเมือง

หลายคนอาจมองและประเมินว่าเพราะ นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ เคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

เมื่อประสานเข้ากับการเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยสุโขทัย ธรรมาธิราชมาอย่างยาวนาน ทั้งยังเป็นอาจารย์ในทางรัฐศาสตร์และการปกครองจึงได้รับความเชื่อถือจากสังคมเป็นอย่างสูง

กระนั้น ที่ไม่ควรมองข้ามอย่างมีนัยสำคัญก็คือ ก่อนเป็นอาจารย์ ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ในรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ เคยเป็นสื่อประจำหนังสือพิมพ์”สยาม รัฐ” ซึ่งไม่เพียงเป็นหนังสือพิมพ์ซึ่งก่อตั้งโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

หากยังมีบทบาทอยู่กับการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ยิ่งเมื่อ นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ มาเป็นบรรณาธิการนิตยสาร”สู่ อนาคต” รายสัปดาห์ ยิ่งมากด้วยความโดดเด่น

 

ขณะเดียวกัน สังคมได้ซึมซาบเอาสภาพทางการเมืองอันเกิดขึ้นกับ พรรคประชาธิปัตย์มาอย่างต่อเนื่องนับแต่ก่อนรัฐประหาร 2549 ต่อ เนื่องมายังรัฐประหาร 2557

มองเห็นสภาวะถดถอยและตกเป็นด้านรองในทางการเมืองนับ แต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 เป็นต้นมา

ความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทำให้พรรคประชาธิปัตย์เบียดแทรกเข้าไปพัวพันกับการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประ ชาธิปไตยและเต็มที่อย่างยิ่งกับกปปส.

หลังรัฐประหารปี 2557 พรรคประชาธิปัตย์ขัดแย้งและเกิดการ แยกตัวอย่างต่อเนื่อง ผลของโพลที่ระบุว่าได้รับคะแนนเป็นอันดับ 1

จึงกลายเป็นเรื่องน่าตระหนกและสวนกับความเป็นจริงที่เห็น

 

ปฏิกิริยาของ นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ จึงไม่เพียงแต่เป็นการแสดงบท บาทในฐานะนักรัฐศาสตร์ที่รักในความเป็นจริง หากแต่ยังต้องการสะท้อนไปถึงพรรคประชาธิปัตย์อีกด้วย

เป็นการสะท้อนจากมุมของคนที่ติดตามการเมืองอย่างต่อเนื่อง

เป็นการนำเสนอในเชิงวิพากษ์ทางการเมืองภายใต้ยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อย่างท้าทายเป็นอย่างสูง

ท้าทายต่อความรู้สึกและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นทางการเมือง