E-DUANG : คำพูด จำแนก วิสัยทัศน์ เห็นชัด จากเวที “ดีเบต”

การเสวนา 4 พรรค ประชันวิสัยทัศน์ 2565 ท้าเปลี่ยนประเทศไทย ในวาระก้าวไปสู่ 42 ปีของนิตยสาร”มติชนสุดสัปดาห์”มีความน่าสน ใจเป็นอย่างสูง

ไม่เพียงเพราะได้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว มาเปิดตัวและตามมาด้วย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ จากพรรคเพื่อไทยเท่านั้น

หากที่สำคัญยังได้ นายนิพนธ์ บุญญามณี จากพรรคประชาธิ ปัตย์ ได้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย และปิดท้ายด้วย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล จากพรรคก้าวไกล

แม้จะขาดพรรคพลังประชารัฐ ขาดพรรคภูมิใจไทย ขาดพรรค ชาติไทยพัฒนา อันเป็นองค์ประกอบสำคัญในรัฐบาล แต่การได้คีย์ แมนจากพรรคประชาธิปัตย์ก็ทรงความหมาย

ทรงความหมายไม่เพียงชี้ให้เห็นถึง”วิสัยทัศน์”ที่แตกต่างกันระ หว่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเพื่อไทย ก้าวไกล

หากแต่ยังชี้ให้สัมผัสได้ถึง”ภูมิทัศน์”ใหม่ทางการเมืองที่ปรากฏ

มั่นใจได้เลยว่าหากจังหวะการเลือกตั้งขยับมาใกล้บรรยากาศในทางการเมืองจะสร้างจุดต่างของแต่ละพรรคได้อย่างเด่นชัด

 

พลันที่ นายนิพนธ์ บุญญามณี เริ่มแสดงวิสัยทัศน์ การนำไปวางเรียง เคียงกับของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว และ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ก็รับรู้ได้ในความต่างอยู่แล้ว

ยิ่งเมื่อนำไปวางเรียงอยู่เคียงกับ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล แห่งพรรคก้าวไกล ยิ่งเป็นวิสัยทัศน์คนละเฉดคนละสียิ่งขึ้น

หากจัดคู่กันอย่างหลวมๆสังคมก็จะมองเห็นจุดต่างคนละขั้วระ หว่างการพูดของ นายนิพนธ์ บุญญามณี กับ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล แม้จะพุ่งเป้าไปยัง”ระบบราชการ”เหมือนกัน

ขณะเดียวกัน เราเห็นความใกล้เคียงระหว่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อย่างยิ่ง

แต่เป็นความใกล้เคียงอันต่างจาก น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล

 

เชื่อได้เลยว่าหากบรรยากาศแห่งการเสวนาในทางความคิดเริ่มเปิด ม่าน และตามมาด้วยการดีเบตทางการเมืองในแต่ละประเด็น เนื้อหาและการแสดงออกจะเกิดการสังเคราะห์โดยอัตโนมัติ

เราสัมผัสได้ในสภาวะ”เอ๊าต์” สภาวะ “อิน”

เพียงเอ่ยถึงท่าทีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงเอ่ยท่าทีต่อการรัฐประหารก็สามารถระบุได้ว่าอยู่ในกรอบใดทางการเมือง

ไม่จำเป็นต้องหยิบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาก็ได้