E-DUANG : ถอดเก็บ บทเรียน กรณี”พระเกี้ยว” บทเรียน เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล

กระบวนท่าในการเคลื่อนไหวของ นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล น่าศึกษาและถอดเก็บเป็น”บทเรียน”สำหรับ”คนรุ่นใหม่”

ไม่ว่าจะเป็นที่ “เชียงใหม่” ไม่ว่าจะเป็นที่”สงขลา”

กว่าที่ นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล จะสามารถจุดประเด็นได้ในเรื่อง “การอัญเชิญพระเกี้ยว”ในกระบวนการของฟุตบอลประเพณี จุฬา-ธรรมศาสตร์ได้

เป็นเรื่องของ “ระบบ” เป็นเรื่องของ”กระบวนการ” ในทางความ คิดและในการทำงาน

มิใช่อยู่ๆเขาจะสามารถ”ปักธง”ในทาง”ความคิด”ได้ระดับนี้

จะเห็นได้ว่าแม้จะมีคนระดับ นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ ออกมายืน ขวาง แต่ก็ยังมีคนระดับ นายบรรยง พงษ์พานิช ออกมาให้การสนับ สนุนอย่างแข็งขัน

ทั้งนี้ แทบไม่ต้องกล่าวถึงการดำรงอยู่อย่างหนักแน่นและมั่นคง 

ขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะเป็นองค์กร”นำ”ของนิสิตอันมาจาก”การเลือกตั้ง”

ทุกอย่างดำเนินมาอย่างเป็น”ระบบ”และเป็น”ขั้นตอน”

 

เมื่อมีมติขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประกาศออกมาในวันที่ 23 ตุลาคม ก็มีความจำเป็นต้องย้อนไปมอง กระบวนการและรากฐานที่มา

ทั้งรากฐานที่มาของ นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล และรากฐานที่มาของนิสิตอันแวดล้อมอยู่โดยรอบองค์การบริหาร

เส้นทางของ นายเนติวทย์ โชติภัทรไพศาล เริ่มที่สภานิสิต ตาม มาด้วยสโมสนิสิตคณะรัฐศาสตร์ และจากนั้นจึงอาสาตัวให้ประชาคมจุฬาฯเลือกเป็นนายกองค์การบริหารสโมสนิสิต

รากฐานในทางความคิดจึงแวดล้อมด้วยตัวแทนคณะแต่ละคณะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นี่คือผนังทองแดง กำแพงเหล็กในการเคลื่อนไหวต่อสู้

 

การดำรงอยู่ของ นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล จึงมิได้เป็นการดำรงอยู่อย่างว่างโหวง เลื่อนลอย ตรงกันข้าม มีฐานมวลชนอย่างเด่นชัดและทะยานขึ้นมาภายใต้”อาณัติ”จากประชาคมที่เขายืนอยู่

มติที่ได้มาก็มิได้เป็น”ความเห็น”ส่วนตัวอย่าง”ปัจเจก”

เป็นมติ 29 ต่อ 0 อย่างเป็นเอกฉันท์และเปี่ยมด้วยเอกภาพจากคณะกรรมการองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เป็น”มติ”จากรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกของ”นิสิต”อย่างแท้จริง