E-DUANG : การต่อสู้ ความคิด ใหม่ เก่า ในพื้นที่ เข้ม “จุฬาลงกรณ์”

การดำรงอยู่ของ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันมี นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล เป็นนายกฯ เป็นการดำรงอยู่ในลักษณะท้าทาย

ไม่เพียงแต่ท้าทายต่อ”ผู้บริหาร”มหาวิทยาลัยโดยตรง หากแต่ยังท้าทายต่อ”ขนบ”อย่างแหลมคมยิ่ง

มิได้เกิดขึ้นในยุคแห่ง “อบจ.”หากแต่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้ว

ตั้งแต่ นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล ดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนนิสิตคณะรัฐศาสตร์ เขาก็ได้เคลื่อนไหวจนสามารถเปิดห้อง วิชิต อมรกุล นิสิตรัฐศาสตร์ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

และเมื่อเข้าเป็นนายกองค์การสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัยก็ได้รื้อฟื้นแนวทางหนังสือ”มหาวิทยาลัย”ไปในทิศทาง เดียวกันกับเมื่อครั้ง จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นสาราณียกร

ทั้งที่สถานการณ์นั้นทำให้ จิตร ภูมิศักดิ์ ถูก”โยนบก”

ยิ่งกว่านั้น เมื่อมีการจัดงาน”ต้อนรับนิสิตใหม่”เขาก็เชิญคน อย่าง นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ เข้ามามีบทบาทในการ”ปฐมนิเทศ”

สร้างความแค้นเคืองให้กับ”ฝ่ายบริหาร”ของมหาวิทยาลัย

 

มีความพยายามที่จะเข้า”จัดการ”กับ นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล ในกระบวนการเดียวกันกับที่เคยจัดการเมื่อครั้งเข้าดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภานิสิต

แต่ก็ต้องยอมรับว่า “องค์ประกอบ” ที่แวดล้อมโดยรอบตัวนายกองค์การนิสิตของเขามีความแข็งแกร่งขึ้น

นั่นก็คือ ตำแหน่งนายกองค์การที่ นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล ได้มา เป็นการได้มาภายใต้”อาณัติ”แห่งการตัดสินใจเลือกของประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่

นั่นก็คือ เขาได้มาโดยผ่านกระบวนการประชาธิปไตยที่มีรากฐานยึดโยงอยู่กับสมาชิกแห่งประชาคม 

ตรงนื้คือ ผนังทองแดง กำแพงเหล็ก อันแข็งแกร่งยิ่ง

 

ต้องยอมรับว่า แต่ละก้าวแห่งการเคลื่อนไหวขององค์การบริหารสโม สรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มี นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล เป็นนายกดำเนินไปอย่างมีเป้าหมาย

เด่นชัดยิ่งเป็นเป้าหมายในการ”ปักธง”ในทาง”ความคิด”

หากจะมีลักษณะท้าทายก็เป็นการนำเอาความคิด”ใหม่”เข้าท้าทายเพื่อหักล้างกับความคิด”เก่า”

ทำให้กรอบและขอบเขตการต่อสู้อยู่ในพื้นที่ของ”ความคิด”