E-DUANG : สภาพทุลักทุเล ของ ประชาธิปัตย์ ยุคเผชิญหน้า พลังประชารัฐ กล้า

หากประเมินจากลักษณะการแยกและแตกตัวของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าก่อนและภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 จะมีจุดน่าห่วงใยเป็นอย่างสูงในทางการเมือง

นั่นก็คือ การแยกตัวของกลุ่ม นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ ไปร่วมในการก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ นายพุทธพงษ์ ปุณณกันต์ ไม่เพียงแต่เป็นแกนหลักของกปปส.หากแต่ยังเป็นแกน หลักของพรรคประชาธิปัตย์ในกรุงเทพมหานคร

เมื่อตามมาด้วยการประกาศจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ยิ่งทำให้เกิดภาวะระส่ำระสายภายในพรรคประชาธิปัตย์

อย่าได้แปลกใจหากผลการเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปรากฏออกมากลายเป็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องกีดกันออกไป

ผลก็คือ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ อยู่ในฐานะเบียดขับพรรคประชาธิปัตย์และแบ่งกันยึดครองพื้นที่ของ กรุงเทพมหานคร

 

สถานการณ์เท่านั้นไม่เพียงพอเพราะภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 และภายหลังการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ก็ปรากฏความขัดแย้งเด่นชัดเป็นลำดับ

ตั้งแต่ระหว่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ในเบื้องต้น

แล้วตามมาระหว่าง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ กับ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายกรณ์ จาติกวณิช อันก่อผลสะเทือนอย่างสูง

ปรากฏว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ก็ลาออก นายกรณ์ จาติกวณิช ก็ลาออก นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ก็ลาออก

การยึดครองของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ จึงอยู่บนความร้าว

 

สภาพของพรรคประชาธิปัตย์นับแต่นี้เป็นต้นไปจึงแทบไม่ต้องมองไปยังพรรคเพื่อไทย หรือพรรคก้าวไกล เพราะคู่ต่อสู้ของพรรคประชาธิปัตย์ล้วนแต่เป็น”โจทก์เก่า”

ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

ไม่ว่าจะเป็นพรรคกล้าที่มี นายกรณ์ จาติกวณิช ไม่ว่าจะเป็นพรรคไทยภักดีที่มี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม

มีความเป็นไปได้ว่าอาจเหลือ”ภาคใต้”ให้ยึดครองอยู่บ้าง