E-DUANG : รหัสนัย ความเชื่อ ทางศาสนา ประเมินจาก ข้อเสนอ สวดมนต์

ทำไมคำพูดในเรื่อง”สวดมนต์”จากปาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างเดินทางไปกรวดน้ำท่วมที่สุโขทัยจึงกลายเป็น”ประเด็น”ก่อให้เกิด”ไวรัล”อย่างกว้างขวาง ลึกซึ้งในโลก”ออนไลน์”

ทั้งๆที่คำพูดในเรื่อง”สวดมนต์”ครั้งนี้มิได้เป็นหนแรก ทั้งๆที่กคำพูดในเรื่อง”สวดมนต์”แทบมิได้เป็นเรื่องแปลกอย่างประหลาดแต่ อย่างใดหากมองจากความเคยชิน

เพราะเมื่อเผชิญเข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็พูดถึงเรื่อง”สวดมนต์”ทั้งเป็นการประโลมใจชาวบ้านและตนเอง

แล้วเหตุใดการเน้นย้ำคำพูดว่าด้วย”สวดมนต์”ระยะหลังจึงกลายเป็นข้อถกเถียงและลำลึกลงไปในกระบวนการของการเยาะเย้ยถากถาง

ราวกับว่าเป็นคำพูด”ไร้สาระ” ราวกับว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย

สภาพการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอันนำไปสู่การเปรียบเทียบอย่างแหลมคมยิ่งในทาง”ความคิด”

ไม่ว่าจะมองด้าน”ความเชื่อ” ไม่ว่าจะมองด้าน”ศาสนา”

 

ความน่าสนใจอยู่ที่ไม่เพียงแต่”ชาวบ้าน”เท่านั้นจะรู้สึกว่าคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเรื่องน่าหัวเราะ แทบไม่มีความหมาย อะไรในทางเป็นจริง

เพราะแม้กระทั่ง”พระสงฆ์”เองก็ออกมาโพสต์ภาพและข้อความอย่างเยาะเย้ย เสียดสี

นั่นเพราะว่าก่อนหน้านี้เคยมีพระจำนวนหนึ่งออกมาให้ความเห็นต่อกรณีของ”สารวัตรโจ้ เฟอร์รารี่” และก็ตามมาด้วยพระ เหล่านั้นตั้งวงฉัน”ชาบู”ในยามวิกาล

ยิ่งกว่านั้น เมื่อเกิดน้ำไหลหลากท่วมไปอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าอาราม ไม่ว่าพระก็ประสบความเดือดร้อนไม่ต่างไปจากชาวบ้าน

ทั้งที่พระก็”สวดมนต์”อยู่แล้วเป็นประจำแทบทุกวัน

 

ถูกต้องแล้วที่มีความพยายามอธิบายว่า คำพูดในเรื่อง”สวดมนต์” จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเรื่องในทางจิตวิทยาเป็นการปลอบใจในยามทุกข์ร้อนลำเค็ญจากภัยธรรมชาติ

แต่การ”สวดมนต์”ย่อมมิใช่วิธีการบริหารจัดการอย่างแน่นอน

นี่คือการปะทะระหว่าง”ความเชื่อ”กับสภาพ”ความเป็นจริง”ที่ชาวบ้านประสบและรับรู้ด้วยตนเอง

เป็นการปะทะในทาง”ความคิด”อันส่งผลในทาง”การเมือง”