E-DUANG : ตัวตน การเมืองแบบ โทนี่ วู้ดซั่ม จุดประกาย ความหวัง เพื่อไทย

ยิ่งปรากฏตัว ยิ่งทำให้สังคมมีความเข้าใจในตัวตนแห่งความเป็น โทนี่ วู้ดซั่ม เด่นชัดมากเป็นลำดับ

ตัวตนนี้ของ โทนี่ วู้ดซั่ม ดำรงอยู่อย่างมั่นคง แน่วแน่

ไม่ว่าจะก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ความเป็น โทนี่ วู้ดซั่ม ก็ไม่เคยแปรเปลี่ยน

หากจะเคยผ่านสถาบันทางทหารมาแบบเดียวกันกับ จอมพล ป.พิบูลสงคราม หรือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่ โทนี่ วู้ดซั่ม ก็คิด เหมือนและคิดต่างไปจาก 2 คนนั้น

ความเหมือนอยู่ตรงที่เขายังมั่นคงอยู่กับความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไม่เคยแปรเปลี่ยน แม้จะถูกให้ร้ายป้ายสีอย่างชั่วร้ายและเลวทรามจากฝ่ายตรงกันข้าม

ขณะเดียวกัน โทนี่ วู้ดซั่ม ก็แตกต่างไปจากนักการเมืองคนอื่น

ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองอย่าง นายบรรหาร ศิลปะอาชา ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองอย่าง นายชวน หลีกภัย

ตรงที่นำนวัตกรรมใหม่ในเชิงบริหารเข้ามาในพื้นที่การเมือง

 

นวัตกรรมอันมาจากความคิดประดิษฐ์สร้างของ โทนี่ วู้ดซั่ม ก็คือเมื่อประกาศเป็น”นโยบาย”แล้วก็สามารถแปรนามธรรมแห่งนโย บายไปสู่รูปธรรมแห่งการปฏิบัติที่เป็นจริง

พรรคไทยรักไทยจึงเป็นพรรคที่ขาย”นโยบาย” จุดประกายแห่ง ความหวังให้กับประชาชน

พลันที่ได้เป็นรัฐบาลและได้แปร”นโยบาย”ไปสู่”การปฏิบัติ”ที่เป็นจริงตามคำประกาศ ไม่ว่าจะเป็น 30 บาทรักษาทุกโรค ไม่ว่าจะ เป็นกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เป็นต้น

ความสำเร็จนี้ก็เป็นตราประทับให้กับยี่ห้อของ โทนี่ วู้ดซั่ม ไม่ว่าจะชื่อพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน หรือพรรคเพื่อไทย

สามารถกำชัยในการเลือกตั้งได้ทุกครั้ง ไม่มีผู้ใดต่อกรได้

 

ถามว่าการฟื้นคืนมาอีกคำรบหนึ่งของ โทนี่ วู้ดซั่ม เป็นไปตามพิมพ์ เขียวในทางการเมืองแบบไหน

ยังคงเป็น”ปฏิมา”แห่งความสำเร็จในแบบ”ไทยรักไทย”

เพียงแต่ประยุกต์ผ่านกระบวนการของ”พรรคเพื่อไทย” ภายใต้กระสวน “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” เป็นการจุดประกายแห่งความหวัง ขึ้นมาอีกครั้งในท่ามกลางความอับเฉาทางปัญหา

นั่นก็คือ ตัวตนแห่ง”นักปฏิรูป”มิใช่ตัวตนแห่ง”นักปฏิวัติ”