E-DUANG : พลังประชารัฐ นอนร่วม เพื่อไทย แต่ “ความฝัน” เป็นคนละ “เรื่อง”

ไม่ว่าท่าน”กิมย้ง” ไม่ว่าท่าน”โกวเล้ง” ไม่ว่าท่าน”เหมา นี่”อันล้วนเป็นปีศาจแห่งยุทธนิยายกำลังภายในจากฮ่องกง ไต้หวัน และแผ่นดินใหญ่ ชมชอบในการเอ่ยอ้างสำนวนจีน

“วิกาลยาวนาน ฝันยุ่งเหยิง” ขึ้นมาเอ่ยอ้างอยู่เนืองๆ

มองไปทางด้านภารตนิยาย ไม่ว่าท่าน เอ.เค.อับบาส ไม่ว่าท่าน มุลค์ ราช อานันท์ ก็ชมชอบในการเอ่ยอ้างสำนวนอันสะท้อนบทเรียนและความจัดเจนจากชมภูทวีปขึ้นมา

นั่นก็คือ “นอนเตียงเดียวกัน แต่”ฝัน”คนละเรื่อง”

สำนวนเหล่านี้สามารถนำมาเป็นอุปมาฉันใด อุปมัยฉันนั้นให้กับสถานการณ์การแก้ไข”รัฐธรรมนูญ”ในสังคมการเมืองของไทย ได้อย่างเด่นชัด

ไม่ว่าจะมองไปยังพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะมองไปยังพรรค ประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะมองไปยังพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล

ทุกพรรคล้วนอัดแน่นไปด้วย”ความฝัน”อันแสนงาม

เพียงแต่ว่าจะเป็นความฝันภายใต้”วิกาลอันยาวนาน” หรือเป็นความฝันบน”เตียงเดียวกัน”หากแต่ออกมาเป็นคนละเรื่องหรือไม่

ตัวอย่างที่ดีที่สุด คือ ความฝันของพรรคพลังประชารัฐกับความฝันของพรรคเพื่อไทยที่ต้องยอมรับว่าเป้าหมายของทั้งสองพรรคอยู่ที่ระบบการเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540

นั่นก็คือ ระบบที่ใช้บัตร 2 ใบ ใบหนึ่ง เลือก ส.ส.ระบบเขต อีกใบหนึ่ง เลือก ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ

อย่าได้แปลกใจไปเลยที่ 2 พรรคจะ”นอนเตียงเดียวกัน”ได้

เพราะว่าพรรคเพื่อไทยอันเป็นอวตารแห่งพรรคไทยรักไทยย่อม ตระหนักได้เป็นอย่างดีจากชัยชนะของตนในการเลือกตั้งเมื่อเดือน มกราคม 2544 และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548

ขณะที่ในพรรคพลังประชารัฐก็มาจากพรรคไทยรักไทย

คำถามอยู่ที่ว่าความเป็นจริงของพรรคพลังประชารัฐกับความเป็นจริงของพรรคเพื่อไทยจะเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่

คำตอบของคำถามนี้อาจมีความสำเร็จจาก”อดีต”ปรากฏอยู่

กระนั้น ที่มิอาจมองข้ามได้อย่างเด็ดขาดก็คือ นั่นเป็นความจริง เมื่อปี 2544 และความจริงเมื่อปี 2548 ขณะที่วันนี้คือปี 2564

ฝันของพลังประชารัฐย่อมเป็นอย่างหนึ่ง ฝันของเพื่อไทยย่อมเป็นอีกอย่างหนึ่ง คำถามอยู่ที่ว่าฝันของพลังประชารัฐกับฝันของเพื่อไทยอย่างไหนจะเป็น”ความจริง”