E-DUANG : เส้นทาง แก้ไข “รัฐธรรมนูญ” เพื่อไทย ถึงทางแยก ก้าวไกล

แม้ระหว่างประชุมและแถลงในนาม 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านจะสะท้อนท่วงทำนอง”แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง”ในกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ

โดยเฉพาะท่าทีที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยแม้จะมีความแตกต่างในรายละเอียดของเป้าหมายระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล

แต่พลันที่พรรคก้าวไกลโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ออกมาแถลงพร้อมกับ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ยืนยันไม่ร่วมลงนามในการแก้ไขเพื่อจัดตั้งสสร.

ท่วงทำนองในแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยอันดำรงอยู่ในระหว่างการประชุม 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านก็ขาดผึง ตามมาด้วยแถลงการณ์พรรค เพื่อไทยที่อ่านโดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค

จากนั้นไม่ว่าจะมองผ่านพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะมองผ่านพรรค ก้าวไกลก็ดำเนินไปในท่วงทำนองแบบต่างคนต่างเดิน

พรรคเพื่อไทยยืนยันทิศทางและแนวทางของตนอย่างเด็ดเดี่ยว

เป็นความเด็ดเดี่ยวในขณะที่พรรคก้าวไกลก็ยืนยันที่จะไม่ร่วมลงนามในร่างที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย

 

ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคก้าวไกลล้วนมองเห็นในเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอันดำรงอยู่ภายในรัฐธรรมนูญ เพียงแต่กระบวนการที่จะแก้ไขมีความแตกต่างกัน

กล่าวอย่างถึงที่สุดก็คือ พรรคเพื่อไทยจะไม่แตะเนื้อหาหมวด 1 หมวด 2 ขณะที่พรรคก้าวไกลยืนยันว่าทุกหมวดแก้ไขได้ทั้งสิ้น

เมื่อนำเอาคำแถลงของพรรคก้าวไกลประสานเข้ากับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม”ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์”ก็จะมองเห็น ทิศทางของพรรคก้าวไกลได้อย่างเด่นชัด

นั่นก็คือกระบวนการ”ขอคนละชื่อ รื้อระบอบประยุทธ์”คือการ เคลื่อนไหวที่คณะก้าวหน้าเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น

จากนั้นจึงสามัคคีกับกลุ่มการเมืองและภาคประชาสังคม

 

แม้ว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจะมีเป้าหมายต้องการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญเหมือนกัน แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งซึ่งสำคัญ 2 พรรคนี้ก็มีกระ สวนในการขับเคลื่อนแตกต่างกัน

เป็นความแตกต่างที่มีการประกาศอย่างเด่นชัดต่อสังคม

เป็นความแตกต่างที่แม้จะยังเป็น”พันธมิตร” แต่ก็มี”วิธีการ”เข้าสู่เป้าหมายไม่เหมือนกัน

นี่คือเรื่องที่สังคมประชาธิปไตยจะต้องทำความเข้าใจ