E-DUANG : เงาสะท้อน จากกรณี “ลุงพล” การวิพากษ์ โดย”แฮ็คเกอร์”

ปรากฎการณ์ที่มีการแฮ็คเข้าไปยังบางเพจในเครือของ”อมรินทร์”เป็นปรากฏการณ์อันสะท้อนถึงมิติและแนวโน้มใหม่

ปฐมเหตุมาจากความไม่พอใจต่อการเสนอข่าว”ลุงพล”

หากมองอย่างเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ปรากฏการณ์นี้เท่ากับเป็นเงาสะท้อนแห่งกระบวนการ”วิพากษ์”ต่อบทบาทและการทำงานใน เครือของ”อมรินทร์”

เพียงแต่หากว่าเป็นความไม่พอใจผ่านสื่อ”สิ่งพิมพ์”ก็อาจจะมีการส่งจดหมาย หรือไม่เสียเงินซื้อ

และหากเป็นสื่อ”โทรทัศน์”ก็ไม่เปิดดู

หรือหากมีความรู้สึกรุนแรงก็อาจจะยก”โทรทัศน์”ขึ้นทุบด้วยอารมณ์เหมือนที่ชอบเล่นสำนวนกัน

แต่เมื่อเข้าสู่ยุคใหม่ ยุคแห่ง”ดิจิทัล”

กระบวนการแห่งการแสดงความไม่พอใจ กระบวนการแห่งการตอบโต้ก็ทวีความรุนแรง

ไม่เพียงแต่ไม่ยอมดู หากแต่ถึงกับมี”การแฮ็ค”ปิดกั้น

 

สถานการณ์เช่นนี้ถือว่าร้ายแรงและแหลมคม เพราะยึดบรรทัดฐานของกฎหมายอย่างเคร่งครัดถือได้ว่ามีความผิด

คำถามอยู่ที่ว่าจะสามารถจับมือใครดม หาตัวคนทำได้หรือไม่

กระนั้น หากมองจากพื้นฐานแห่งความไม่พอใจก็ต้องยอมรับว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ และกระตุกอย่างรุนแรงและเฉียบขาดเป็นอย่างสูง

เพราะเท่ากับดำเนินมาตรการอันทำให้การแพร่กระจายของข่าวสารหยุดชะงักลงอย่างสิ้นเชิง

เหมือนกับการสั่งปิดโดยอำนาจแห่ง”กฎหมาย”

เพียงแต่คราวนี้มิได้เป็นอำนาจแห่งกฎหมายของบ้านเมือง หากแต่เป็นอำนาจจากกระบวนการภาคพลเมืองเท่านั้น

 

กรณีของ”อมรินทร์”จึงเป็นอีกสัญญาณหนึ่งในทางสังคม เป็นท่าทีต่อสื่อที่ทวีความแข็งกร้าวและรุนแรง

เป็นการวิพากษ์อย่างแน่นอน แต่มิได้เปิด”ทางเลือก”

เป็นการใช้ดุลพินิจบนพื้นฐานที่ว่า เมื่ออำนาจตามกฎหมายยื่นไปไม่ได้ถึงก็ใช้อำนาจรุนแรงผ่านวิถีแห่งเทคโนโลยี

      นี่ย่อมเป็นสัญญาณการมาเยือนของ”อนาธิปไตย”ในสังคม