E-DUANG : 7 ปี รัฐประหาร พฤษภา 57 บทสรุป ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ความเชื่อที่ว่าการเข้าสู่ปีที่ 8 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะหนักหนาสาหัสอย่างยิ่งยวด

กำลังเป็น”ความเชื่อ”อันก่อให้เกิด”กระแส”ทางการเมือง

หากวัดจากเสียงร้องตะโกน”ออกไป ออกไป”จากที่เริ่มในการ ชุมนุมแฟล็ชม็อบเมื่อเดือนธันวาคม 2562 บนสกายวอล์คอาจยังไม่ หนักแน่นและจริงจังเท่าใดนัก

แต่สถานการณ์ภายหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ให้ความรู้สึกที่เด่นชัด

ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างผ่านกระบวนการเคลื่อนไหวของเยาวชน คนรุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จากนั้นก็เป็นมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นพระจอมเกล้า ลงลึกไปยังมหาวิทยาลัยเอกชนและมหาวิทยาราชภัฎ

อาจยุติลงเพราะสถานการณ์”โควิด”ในเดือนมีนาคม

      แต่เมื่อถึงเดือนกรกฎาคมก็มีการชุมนุมโดย”เยาวชนปลดแอก” ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

 

ตลอดปี 2563 จึงเป็นตลอดปีแห่งการเคลื่อนไหวของเยาวชน คนรุ่นใหม่จนสามารถยกดับและพัฒนาขึ้นเป็น”คณะราษฎร 2563”

ถามว่าทุกวันนี้”กระแส”ของ”ราษฎร”แผ่วและฝ่อลงหรือไม่

ในทางกายภาพอาจไม่มีการเคลื่อนไหว”ใหญ่”แต่ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ผลสะเทือนจากการลุกขึ้นมาพร้อมกับเสียงร้องตะโกน

“ออกไป ออกไป”ได้แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง

ตกไปอยู่ในมือของ”ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” ตกไปอยู่ในมือของ”กลุ่มประชาชนไทย”ปลายหอกล้วนพุ่งเข้าใส่ยอดอกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งสิ้น

บรรยากาศของ 7 ปีรัฐประหารจึงเป็นบรรยากาศแห่ง”ตาสว่าง”

 

เป็นความ”ตาสว่าง”ที่มีการทบทวนบทบาทตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อ เดือนพฤษภาคม 2557

ความสิ้นหวังรวมศูนย์ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แม้กระทั่งคนที่เคยเป็น”กองเชียร์”ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านกระบวนการ”รัฐประหาร”ก็เริ่มตั้งคำถาม

เป็นคำถามโดยตรงไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา