E-DUANG : มุมมอง รัฐประหาร ปี 2557 จากประยุทธ์ ถึง “ยิ่งลักษณ์”

หากถือเอารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นตัวตั้ง คำตอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ คำตอบจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชิน วัตร มีความแตกต่าง

อาจเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผ้กระทำ อาจเพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้ถูกกระทำ

กระนั้น หากฟังจากคนอย่าง นายปรีดา เตียสุวรรณ์ หากฟังจากคนอย่าง นายนิติธร ล้ำเหลือ หากฟังจากคนอย่าง นายพิชิต ไชยมงคล

ปรากฏว่าบทสรุปตรงกันข้ามกับของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกลับดำเนินไปอย่างใกล้เคียงกับบทสรุปของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นอย่างมาก

น้ำหนักจากบทสรุปของ นายปรีดา เตียสุวรรณ์ นายนิติธร ล้ำ เหลือ นายพิชิต ไชยมงคล ตรงที่ 3 คนนี้เคยเห็นชอบกับรัฐประหาร

ไม่ว่าเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ความหมายจึงหมายความว่าเคยเห็นด้วยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยอยู่ในสถานะแห่ง”กองเชียร์”มาก่อน

 

น่าสังเกตว่า บทสรุปต่อรัฐประหารจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สอดรับกับบทสรุปของ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ สอดรับกับบทสรุปของ น.ส.ปภัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

และตรงกับบทสรุปของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตรงกับบทสรุปของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล น.ส.พรรณิการ์ วานิช

หากจะมองบนสมมติฐานของ”กองเชียร์”รัฐประหาร เห็นชอบด้วยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คล้ายกับว่าบรรดา”เยาวชน”ได้รับอิทธิพลมาจาก”ธนาธร ปิยบุตร พรรณิการ์”

คำถามอยู่ทีว่า บรรดา”เยาวชน”เหล่านั้นได้รับอิทธิพลจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยหรือ

ในที่สุด ก็ลากดึงคนเหล่านี้ไปอยู่ในขบวนและแถวเดียวกัน

 

บทสรุปต่อ 7 ปีรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จึงสะท้อนถึงสภาพความเป็นจริงทางการเมืองของไทยในห้วง 1 ทศวรรษหลังนี้อย่างลึกซึ้ง

เพราะสามารถโยงสายยาวไปยังรัฐประหารกันยายน 2549

จึงทำให้มองเห็นความสัมพันธ์ของ”รัฐประหาร”กับ”โครงสร้าง” ในทางการเมืองได้อย่างเด่นชัด

ตัวของ”รัฐประหาร”นั้นเองที่เปลือยอย่างล่อนจ้อนในสังคม