E-DUANG : กระแส “พระอาหลัว” บังเกิดขึ้น ทะลวงไป ในพื้นที่ “พระเครื่อง”

ปรากฏการณ์ “พระอาหลัว” ไม่เพียงแต่ท้าทายต่อ ปรากฏการณ์”พระเครื่อง” อย่างแหลมคมยิ่ง

หากยังแต่ท้าทายต่อ “จารีต” แห่งการทำ “พระเครื่อง”

พลันที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ออกมาให้ความเห็นว่าไม่เห็นด้วย ว่าไม่เหมาะสม ไม่ควรทำ ยิ่งทำให้ประเด็นแห่งการวิพากษ์วิจารณ์แตกประเด็นออกไป

นั่นก็คือ การเกิดขึ้นของ “รูปจำลอง” และ “พระเครื่อง” สอดรับกับหลักการโดยแท้ของพุทธธรรมหรือไม่ หรือว่าเป็นจารีตอันได้อิทธิพลมาจากกรีก

ยิ่งกว่านั้น ยังกลายเป็นคำถามไปถึงแบบอย่างการสร้างพระเครื่องกระทั่งกลายเป็นความนิยมจากความเชื่อและถูกแปรให้มีการซื้อขายหรือ”เช่า”กันอย่างกว้างขวาง

เป็นคำถามไปยังความเชื่อในทาง”ไสยศาสตร์”

เป็นเรื่องของ”อภินิหาร”ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายในกระแสการปั่นราคาอย่างอึกทึกครึกโครม

ตกลงอย่างไหน “พุทธแท้” อย่างไหน “พุทธเทียม”

 

ไม่ว่าชะตากรรมของ”พระอาหลัว”จะมีจุดจบอย่างไร แต่ปรากฏการณ์นี้ก็จุดประกายในทางความคิด นำไปสู่การถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง

หากเริ่มต้นจากพื้นฐานแห่ง”ความเชื่อ” ภายใต้บทสรุปที่ว่า”ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่”

ก็ย่อมเป็นเรื่องในท่วงทำนองแบบ”ทางใคร ทางมัน”

พระอาหลัวที่ทำขึ้น ด้านหนึ่ง เพื่อยกระดับการดำรงอยู่ของอาหลัว ด้านหนึ่ง เพื่อให้พระอาหลัวไม่เพียงแต่จะสร้างศรัทธาและความเชื่อหากแต่ยังสามารถกินได้ในฐานะแห่งขนม

ทั้งหมดนี้ย่อมเท่ากับเป็นการขยายพื้นที่ให้กับ”อาหลัง”

ทั้งหมดนี้ย่อมเท่ากับทำให้กระแสแห่ง”พระเครื่อง”สัมพันธ์แนบแน่นอยู่กับชีวิตในทางเศรษฐกิจของประชาชน

 

ไม่มีใครตอบได้ว่า เส้นทางในอนาคตของ”พระอาหลัว”จะถึงกาลแตกดับหรือว่าได้รับความนิยม กระนั้น ที่แน่นอนอย่างที่สุดปรากฏ การณ์นี้ก็เท่ากับเป็นการจุดประกาย

เป็นองค์ประกอบหนึ่งของการเคลื่อนไหวในการปักธงทางความคิดเข้าไปในพรมแดน”พระเครื่อง”อย่างมีความหมาย

ท้าทายต่อ “ความคิด” ท้าทายต่อ “ความเชื่อ”