E-DUANG : การดำรงอยู่ ของ “คนเท่ากัน” และการดำรงอยู่ ของ “ภาษีกู”

ขอบคุณภาพจาก ILaw

ไม่ว่าการเปล่งคำว่า “คนเท่ากัน” ไม่ว่าการเปล่งคำว่า “ภาษีกู”จะมีรากฐานมาอย่างไรในทางความคิด

แต่ก็กำลังกลายเป็นการเปล่งที่ธรรมดาอย่างปกติยิ่งในสังคม

ยิ่งเมื่อปัญหาอันเกิดขึ้นและดำรงอยู่ในระหว่างการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด เกิดสภาวะกระจายและขยายตัวมากเพียงใด เรายิ่งได้ยินเสียงร้องตะโกนด้วยบทสรุปนี้หนักแน่นเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะเมื่อกรณี”น้าค่อม”ที่เริ่มต้นจากข้อเรียกร้องภายในครอบครัว ภายในเพื่อนฝูง ในที่สุด ได้ก่อให้เกิดปฏิบัติการที่เป็นจริงขึ้นพร้อมกับการโพสต์ข้อความแสดงความ”ขอบคุณ”

ปรากฏการณ์ที่มีการเอ่ยอ้างถึงลักษณะแห่งความเป็น”คนเท่ากัน” ปรากฏการณ์ที่มีการเอ่ยอ้างถึงรูปการจิตสำนึกที่ว่า”ภาษีกู” ยิ่งดังกึกก้อง

เป็นคำถามไปยัง “คน” ด้วยกัน เป็นคำถามไปยัง “รัฐบาล”

อย่าคิดว่าคำขวัญเหล่านี้เกิดขึ้นจากความคะนอง อย่าคิดว่าคำขวัญเหล่านี้ดำรงอยู่อย่างไร้รากฐานในทางความคิด

 

ก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเมื่อดูภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ด ไม่ว่าจะเมื่อดูภาพ ยนต์จากฮ่องกง สิ่งหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นเรื่องแปลกในสังคมไทย คือการที่คนของพวกเขาไม่กลัวเจ้าหน้าที่ของบ้านเมือง

คำถามหนึ่งก็คือคำถามถึงเหตุผลที่เจ้าหน้าที่กระทำต่อเขาและพวกเขา คำถามถึงสิทธิและเสรีภาพ

นั่นเพราะว่าชาวบ้านเหล่านั้นได้ตระหนักในบทบาทและความหมายของตนในฐานะผู้เสียภาษี นั่นเพราะว่าชาวบ้านรับรู้บทบาทและสถานะเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าดำรงอยู่อย่างไร

แท้จริงแล้วเจ้าหน้าที่เหล่านั้นอยู่ได้เพราะ “ภาษีกู” แท้จริงแล้ว การดำรงอยู่ของคนดำเนินไปในลักษณะ”คนเท่ากัน”เพียงแต่แตกต่างในเรื่องหน้าที่การงานเท่านั้น

เรื่องเหล่านี้อาจมิได้แปลกในสังคม”อารยะ” แต่กล่าวสำหรับสังคมไทยยังถือได้ว่าเป็น”ของใหม่”

 

ยอมรับเถิดว่า ปฏิกิริยาจากคำขวัญที่ว่า”ภาษีกู”และ”คนเท่ากัน”เกิดขึ้นอย่างเป็นเรื่องธรรมดาในสถานการณ์การลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว ของ “เยาวชนปลดแอก”และ”คณะราษฎร 2563”

ไม่ว่าจะมีการจัดการกับ นายอานนท์ นำภา อย่างไร ไม่ว่าจะมีการจัดการกับ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ อย่างไร

แต่ความเชื่อในเรื่อง”ภาษีกู”ในเรื่อง”คนเท่ากัน”ก็จะยังอยู่