E-DUANG : สถานการณ์ การเมือง เมษายน กับ สถานการณ์ “โควิด” ระบาด

ที่นอสตราดามุสเมืองไทย โสรัจจะ นวลอยู่ ว่าสถานการณ์ในปี 2564 จะร้อนแรงตั้งแต่เดือนมกราคมและต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมิถุนายนนั้นถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง

ไม่ว่าจะมองผ่านแว่น”อิทัปปจตา”ในแบบพุทธธรรม ไม่ว่าจะมองผ่านแว่น”ไดละเล็กติก”ในแบบของโสเครติส

อย่างน้อยคดีความของ นายอานนท์ นำภา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ น.ส.ปภัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ก็ยังมีความต่อเนื่องมาจากเดือน สิงหาคม 2563

ยิ่งเมื่อยืนยันไม่ให้มีการประกันและสั่งคุมขังทั้งๆที่ยังไม่มีการพิจารณาคดีอันเท่ากับปิดโอกาสของจำเลยอย่างสิ้นเชิง นี่ย่อมเป็นเชื้อมูลต่อเนื่องมาจนถึง “หยุด ยืน ขัง”หน้าศาลฎีกา

ขณะที่เดือนเมษายน พฤษภาคม ก็ครบวาระ 11 ปีแห่งการสลายการชุมนุม และพลันที่วันที่ 22 พฤษภาคมมาถึงก็เท่ากับรัฐประหารได้ย่างเข้าสู่ปีที่ 8

จากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ก็เดินหน้าไปยังวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เข้าสู่ปีที่ 89 อันทรงความหมาย

 

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 จะนำไปสู่การ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 แต่ความเป็น จริงก็แน่ชัดว่าประกาศนี้ไม่มีผลอะไรในทางเป็นจริง

เพราะได้เกิดการแพร่ระบาดรอบที่ 2 จากตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร รวมถึงบ่อนการพนันจากระยอง

และเมื่อมาถึงเดือนเมษายน 2564 ก็เกิดการแพร่ระบาดรอบที่ 3 ขึ้นอีกจากสถานการณ์ของสถานบันเทิง คริสตัล คลับ ณ ซอยทอง หล่อ กระจายครอบคลุมไปกว่า 70 จังหวัดทั่วประเทศ

เด่นชัดยิ่งว่าพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมิได้มีเป้าหมายที่ไวรัส หากแต่แท้จริงแล้วต้องการควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชนมากกว่า

เมื่อเป็นเช่นนี้คำถามก็คือสามารถควบคุมได้จริงหรือ

รูปธรรมแห่งคำตอบยืนยันผ่านสถานการณ์ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา

 

เมื่อนำเอาบทบาทของรัฐต่อการแพร่ระบาดของไวรัสมาวางเรียงเคียงกับบทบาทของรัฐต่อการเคลื่อนไหวชุมนุมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ก็เห็นได้อย่างเด่นชัด

เด่นชัดกระทั่งตอบได้ว่า การเคลื่อนไหวในเดือนเมษายนจะคึกคัก ต่อเนื่องถึงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนอย่างแน่นอน