E-DUANG : ผลึกความคิด ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ บทเรียน จาก 11 ปี 10 เมษายน

การปราศรัยของ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ในวาระ 11 ปีของสถานการณ์ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ทรงความหมายเป็นอย่างสูง และดำรงอยู่อย่างมีลักษณะประวัติศาสตร์

ที่สำคัญ เป็นการปราศรัย ณ อนุสรณสถาน อันสร้างขึ้นจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516

ไม่ว่าการลั่นกระสุนเข้าใส่ประชาชนในสถานการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ไม่ว่าการลั่นกระสุนเข้าใส่ประชาชนในสถานการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 มีเป้าหมายเดียวกัน

โดยพื้นฐานคือการใช้ความรุนแรง การใช้อำนาจแห่งปืนเพื่อมุ่ง ร้ายหมายชีวิต โดยเล็งเห็นผลที่จะทำให้การเคลื่อนไหวสะดุดหยุดลงนำไปสู่การสลายและทำให้บทบาทความหมายไร้ค่า

คำถามอันตามมาอย่างฉับพลันทันใดก็คือ เป้าหมายนี้ของผู้มีอำนาจ ผู้กุมกลไกแห่งอำนาจ ประสบความสำเร็จหรือไม่ ไม่ว่าเมื่อเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าเมื่อเดือนเมษายน 2553

คำตอบสัมผัสได้จากทุกเนื้อถ้อยกระทงความแห่งคำปราศรัยของ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564

 

ไม่ว่าบทเรียนจากเมื่อเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าบทเรียนจากเมื่อเดือนเมษายน 2553 นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ได้นำมาเตือนให้ผู้กุมกลไกแห่งอำนาจในปัจจุบันได้สำเหนียก

สำเหนียกว่า การใช้กำลังบังคับ การสาดกระสุนปืนเข้าใส่ประ ชาชนมิได้เป็นการขจัดตัดปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

เพราะผลจากการใช้กำลังบังคับ การสาดกระสุนปืนเข้าใส่ประ ชาชนในเดือนตุลาคม 2516 ผลที่ตามมาต่อผู้ครองอำนาจในขณะนั้นเป็นอย่างไร

ขณะที่การใช้กำลังบังคับ การสาดกระสุนปืนในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 อาจมิได้เป็นไปอย่างเดียวกันกับสถานการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516

แต่ถามว่า “อำนาจ” ที่รักษาอยู่เป็น”ความสุข”แท้จริงหรือ

จากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 มายังรัฐประหารเมื่อ เดือนพฤษภาคม 2557 นำไปสู่ความสงบอย่างราบคาบหรือไม่

 

คำปราศรัยจาก นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เป็นการสกัดประสบการณ์จาก คนที่เคยอยู่ภายใต้ห่ากระสุน แม้จะผ่านการถูกคุมขังมาไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง แต่ถามว่าผลึกแห่งความคิดเป็นอย่างไร

ไม่ว่าผู้กุมอำนาจ ไม่ว่าประชาชนซึ่งเคลื่อนไหวต่อสู้ ไม่ว่าเยาวชนซึ่งเพิ่งตื่นรู้ต่างสำเหนียกและมีคำตอบเป็นอย่างดี