E-DUANG : เผด็จการ กับสำเหนียก การเมือง ศึกษาจาก กรณี ถนอม กิตติขจร

จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร จะ”รู้”บ้างหรือไม่ว่า ชาวบ้านเขาไม่ชอบและความไม่ชอบ ขยายวงออกไปอย่างกว้างขวาง

ตอบได้เลยว่า ไม่รู้ ตอบได้เลยว่า อาจจะรับรู้มาบ้าง แต่ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะเชื่อ

ที่ว่าไม่รู้ เพราะว่าแวดวงของบุคคลที่ล้อมอยู่โดยรอบกายของ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ล้วนเป็นพวกเดียวกัน

เป็นพวกที่ว่าอะไรว่าตามกัน เป็นพวกที่พร้อมจะเออออห่อหมก ดีครับนาย สบายครับท่าน ที่สำคัญก็คือ ไม่อยากให้ “นาย”ต้องได้รับฟังเรื่องที่ระคายหู

จึงสนองให้แต่เรื่องที่ไพเราะเสนาะหู เรื่องที่อยากได้ยินอยากได้ฟัง เพราะจับอารมณ์ได้ว่าหากเป็นเรื่องที่ไม่ไพเราะเสนาะหูก็จะหงุดหงิดและมองด้วยความหวาดระแวง

ไม่ว่า จอมพลถนอม กิตติขจร ไม่ว่า จอมพลประภาส จารุเสถียร ไม่ว่า พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร จึงถูกจำกัดด้วยกรอบแห่งข้อมูล

เหตุที่เชื่อว่า จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ถูกจำกัดด้วยกรอบแห่งข้อมูล เป็นข้อมูลที่ผ่าน การกรอง ผ่านการเลือกสรรมาแล้ว

จึงไม่รู้ว่าได้ปรากฏคลื่นแห่งความไม่พอใจ คลื่นแห่งการต่อต้านเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2514

ความไม่พอใจนี้มิได้มาจากการยุยงของกลุ่มที่ผู้กุมอำนาจรัฐในขณะนั้นเรียกว่า “พวกคอมมิวนิสต์” อย่างเดียว หากแต่มาจากคนที่เคยเป็นกองเชียร์มาก่อน

กลุ่มชนชั้นสูง กลุ่มที่เป็นนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม กลุ่มของนักการเมืองที่เคยมีบทบาทและถูกตัดบทบาทออกไป และคิดว่าอำนาจรัฐ”ถนอม ประภาส ณรงค์”เป็นอุปสรรค คอยขัดขวาง

ความไม่พอใจลึกๆที่เคยอยู่”ใต้ดิน”เหล่านี้แหละเมื่ออยู่ในอุณห ภูมิของสถานการณ์ที่เหมาะสมจึงได้ลุกขึ้นมาต่อต้าน โค่นล้ม

ความไม่รู้ตัวมาก่อนเห็นได้จากความหงุดหงิดของ จอมพลถนอม กิตติขจร เห็นได้ได้จากอุทานจากคุณหญิงคนหนึ่งที่ว่า “ไม่ทันได้นุ่งกางเกงใน”ก็ต้องออกนอกประเทศ

ความไม่รู้ตัวเช่นนี้เป็น”โรคร้ายแรง”อย่างยิ่งที่จะเกิดกับเหล่านักเผด็จการและหวงแหนไม่ยอมคลายอำนาจ

นี่คือโรคที่ทำให้ จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องถูกโค่นในที่สุด