E-DUANG : สวน”สันติพร” พฤษภา ประชาธรรม จากอักษะ สู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

การปรากฏตัวอีกครั้งหนึ่งของ “ภาคีศาลายาเพื่อประชาธิปไตย”ภายใต้ชื่อการชุมนุมว่า “จากอักษะถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย”ในวันที่ 10 เมษายน มีความหมายลึกซึ้ง

ลึกซึ้งถึงอดีตเมื่อเดือนเมษายน 2553 ลึกซึ้งถึงอดีตเมื่อเดือน พฤษภาคม 2557

ไม่เพียงแต่สื่อถึง นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เจ้าของสารจากดินถึงฟ้าจากสถานการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 หากแต่ยังสื่อถึง นายจตุพร พรหมพันธุ์ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ที่สำคัญเป็นอย่างมากยังเป็นการจัดการชุมนุมเคลื่อนไหวภายใต้ชื่อองค์กรที่ว่า “ภาคีศาลายาเพื่อประชาธิปไตย”อันเคยแสดงบทบาทอย่างสำคัญบนถนนอักษะในปี 2563

ขณะที่ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เพิ่งออกจากเรือนจำพิเศษ ขณะที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ กำลังขับเคลื่อน”สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” ณ สวนสันติพร พฤษภา ประชาธรรม

ไม่ว่า ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่ว่า ณ สวนสันติพร พฤษภาประชาธรรม ล้วนมีลักษณะประวัติศาสตร์การเมืองเข้มข้น

 

การชุมนุม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กับ การชุมนุม ณ สวนสันติพร พฤษภา ประชาธรรม จะก่อให้เกิดการเปรียบเทียบในทางการเมืองอย่างแน่นอน

ในเมื่อการชุมนุม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นการจัดขึ้นในวันที่ 10 เมษายน อันเป็นวันประวัติศาสตร์สัมพันธ์กับ”คนเสื้อแดง”

ขณะที่ในการชุมนุม ณ สวนสันติพร พฤษภา ประชาธรรมของ กลุ่ม”สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย”นับแต่วันที่ 4 เมษายนเป็นต้นมาเป็นการจัดอันมี นายจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นผู้นำ

ขณะเดียวกัน มวลชนที่เข้าร่วมนับแต่วันที่ 4 เมษายน กระทั่งวันที่ 5 เมษายน เด่นชัดยิ่งว่าเป็นมวลชน”คนเสื้อแดง”และบางส่วนซึ่งเป็น “อาชีวะเพื่อประชาธิปไตย”

นี่คือมวลชนอันร่วมเคลื่อนไหวกับ”ราษฎร”มาแต่ต้น

เป็นไปได้ที่จะเห็น”หน่วยควบคุมฝูงชน”หรือ”คฝ.”และตู้คอนเทนเนอร์ปรากฏขึ้นในวันที่ 10 เมษายนอย่างแน่นอน

 

บรรยากาศบนถนนราชดำเนินอันใกล้ชิดและแนบแน่นอย่างยิ่งกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และ สวนสันติพร พฤษภา ประชาธรรม จึงย่อมจะเข้มข้นยิ่งในทางการเมือง

เป็นการเมืองที่มีเป้าหมายเดียวกัน นั่นก็คือ ต่อต้านและขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากการกุมอำนาจทางการเมือง