E-DUANG : ธรรมชาติ การพูด การปราศรัย บทเรียน จาก จตุพร พรหมพันธุ์

แรกที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ยืนปราศรัยอยู่บนเวที บทบาทของเขาอยู่ในฐานะเป็นผู้กำหนด”วาระ” มีความต้องการอย่างไรก็เสนอออกไปอย่างต่อเนื่อง

ความจัดเจนในทางการเมือง ความจัดเจนในการวิเคราะห์ ความจัดเจนในการวางระเบียบและวิธีวิทยาในการพูดเด่นชัด

ไม่ว่าแต่ละประเด็นที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ตระเตรียมอย่างเป็นระบบ ผ่านการลำดับเรื่องราว สอดรับกับความรู้สึก สอดรับกับความคิดของมวลชนที่รอรับฟัง

สัมผัสได้จากการขานรับหลากหลายปฏิกิริยา ไม่ว่าจะเป็นการ ร้องตะโกน ไม่ว่าจะเป็นการชูมือ ไม่ว่าจะเป็นการปรบมืออย่างพร้อมเพรียงกัน

ปฏิกิริยาและการแสดงออกนี้เด่นชัดยิ่งว่าเป็นผลมาจากการพูดการปราศรัยจาก นายจตุพร พรหมพันธุ์ ขณะเดียวกัน ปฏิกิริยาอันเป็นความชื่นชมนี้ก็ส่งผลต่อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ไปด้วย

ขั้นต้นที่สุดก็ทำให้ตระหนักรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่มวลชนชมชอบ หากต้องการเสียงปรบมือจะต้องพูดอย่างไร ทำอย่างไร

ตรงนี้เด่นชัดยิ่งว่า “มวลชน” เริ่มเข้าไป”ควบคุม”ผู้พูด

 

ไม่ว่าจะเป็นการปราศรัย ณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อเดือนพฤษ ภาคม 2535 ไม่ว่าจะเป็นการปราศรัย ณ แยกราชประสงค์ เมื่อเดือน พฤษภาคม 2553 ดำเนินมาเช่นนี้

นี่คือกฎแห่งเอกภาพและความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเรียกว่า”อิทัปจยตา” ไม่ว่าจะเรียกว่า”วิภาษวิธี”

ยิ่งเมื่อต้องการ “สามัคคีประชาชน เ พื่อประเทศไทย” ยิ่งทำให้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ต้องเปิดหัวใจให้กว้าง ต้องทำใจให้ใหญ่ เนื่องจากต้องการดึงคนมาเข้าร่วมอย่างกว้างขวาง

ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นมวลมหาประชาชน กปปส. และแน่นอนในเมื่อที่หน้าเวทีคึกคักไปด้วย”คนเสื้อแดง”

“คนเสื้อแดง” ซึ่งไม่เพียงแต่ผ่านประสบการณ์จากเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 หากแต่ยังเพิ่งผ่านประสบการณ์สดๆร้อนๆจากสถานการณ์#ม็อบ20มีนาคม

จึงย่อมติดความเคยชินในการ”ชู 3 นิ้ว”มาด้วย

 

บทเรียนความจัดเจนของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ จึงมิได้จำกัดเพียง บทเรียนปี 2535 บทเรียนปี 2553 หากยังเป็นบทเรียนปี 2563 บทเรียนปี 2564

ใจต้องกว้าง หัวใจต้องใหญ่ จึงจะ”สามัคคี”อันหลากหลายได้