E-DUANG : การต่อต้าน คัดค้าน รัฐประหาร ศึกษา จากคดี อุทัย พิมพ์ใจชน

สภาพอย่างที่ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ประสบ อาจถือได้ว่าเป็นประสบ การณ์”ตรง”ที่เมื่อ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ลงมือต่อสู้ ลงมือกระทำการ การถูกจับกุม การถูกคุมขังคือความต่อเนื่อง

หากย้อนกลับไปยัง “อดีต” ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เคยมีประ สบการณ์”ตรง”ในลักษณาการเดียวกันนี้

ต่อสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2514 ในยุค จอมพลถนอม กิตติขจร ไม่เพียงแต่ นายอุทัย พิมพ์ใจชนและเพื่อนจะถูกจับกุมคุมขัง

พลันที่ นายอุทัย พิมพ์ใจชนและเพื่อนตัดสินใจนำเอาการรัฐประหารของ จอมพลถนอม กิตติขจรและคณะขึ้นฟ้องร้องต่อศาล สถิตยุติธรรม

เป้าหมายก็เพื่อให้ จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นจำเลย แต่ผลกลับกลายเป็นว่า นายอุทัย พิมพ์ใจชนและเพื่อนซึ่งเป็น”โจทก์”กลับ ต้องเป็น “จำเลย”และถูกคุมขัง ณ คุก

แต่แล้วเมื่อเกิดสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 นายอุทัย พิมพ์ใจชนและเพื่อนก็ได้รับการปลดปล่อยมาเป็น”วีรบุรุษประชาธิปไตย”

 

หากมองจากภาพของนักศึกษาในห้วงหลังสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2514 ของ จอมพลถนอม กิตติขจรและพวกก็มีปฏิกิริยาจากนักศึกษา

1 คือ นายยุทธพงศ์ ภูริสัมบรรณ และ 1 คือ นายเพิ่มศักดิ์ นีลวัฒนานนท์

2 คนนี้เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายยุทธพงศ์ ภูริสัมบรรณ ศึกษาอยู่คณะเศรษฐศาสตร์ นายเพิ่มศักดิ์ นีลวัฒนานนท์ ศึกษาอยู่คณะนิติศาสตร์

2 คนนี้ตัดสินใจนำพวงหรีดไปวาง ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อประท้วงการทำรัฐประหารของ จอมพลถนอม กิตติขจร ต่อรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร

เขาถูกเชิญตัวไปสน.ชนะสงครามแล้วปล่อยตัวในเวลาต่อมา

ประวัติศาสตร์การต่อต้านรัฐประหารเมื่อปี 2514 จึงเป็นบทเรียนอย่างดีต่อการเคลื่อนไหวการเมืองในปี 2563-2564

 

เมื่อ นายอุทัย พิมพ์ใจชนและเพื่อนตัดสินใจฟ้องร้อง จอมพลถนอม กิตติขจร สังคมมองเห็นว่าเป็นการตัดสินใจที่บ้าบิ่น เมื่อ นายยุทธ พงศ์ ภูริสัมบรรณและเพื่อนนำพวงหรีดไปวางประท้วงก็เช่นกัน

ต่อเมื่อผ่านสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 นั้นหรอกสังคมจึงย้อนกลับไปมองด้วยความคารวะและซาบซึ้งในน้ำใจอันหาญกล้า

ประวัติวีรบุรุษไซร้ เตือนใจ เรานา