E-DUANG : บทเรียน เดือนมิถุนายน 2515 ผลสะเทือน ต่อ “รัฐธรรมนูญ”

สถานการณ์เดือนมีนาคม 2564 กำลังเดินทับรอยกับสถานการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2515

เพียงแต่ต่างด้วย”กาละ”ต่างด้วย”เทศะ”

เมื่อเดือนมิถุนายน 2515 หลังยุติการชุมนุมยืดเยื้อเพื่อต่อสู้ให้กับนักศึกษาแห่งชมรมคนรุ่นใหม่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ถูกลบชื่อ

นายธีรยุทธ บุญมี ซึ่งจะพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้ยื่นคำขาดต่อรัฐบาลให้ประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน

จากนั้น นายธีรยุทธ บุญมีและเพื่อนๆก็ได้จัดตั้ง”กลุ่มเรียกร้อง รัฐธรรมนูญ”ขึ้นล่ารายชื่อบุคคลโดยตั้งเป้าหมายเอาไว้ 100 รายชื่อเพื่อกดดันต่อรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร

“กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ”นี้เองคือรากฐานอันสำคัญและเป็นตัวจุดชนวนนำไปสู่การเคลื่อนไหวใหญ่ทางการเมืองในปี 2516

สถานการณ์การลงมติคว่ำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อคืนวันที่ 17 มีนาคมจะนำไปสู่”ชนวน”อันเป็นปม แห่ง”รัฐธรรมนูญ”หรือไม่กำลังกลายเป็นคำถาม

 

เป็นคำถามไม่เพียงแต่ต่อพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งแสดงความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ตั้งแต่เมื่อรัฐธรรมนูญนี้ประ กาศและบังคับใช้

หากแต่ยังเป็นคำถามต่อพรรคภูมิใจไทย หากแต่ยังเป็นคำถาม ต่อพรรคชาติไทยพัฒนา

ยิ่งไปกว่านั้น พรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ว่า พรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคก้าวไกล ไม่ว่าพรรคเสรีรวมไทย ไม่ว่าพรรคประชาชาติ ไม่ว่าพรรคเพื่อชาติ ไม่ว่าพรรคพลังปวงชนไทย ล้วนมีความแน่วแน่

คำถามอยู่ที่ว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านจะสามารถผนึกพลังกับความตั้งใจของพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนาได้มากน้อยเพียงใด

นี่คือภารกิจที่วางแบอยู่เบื้องหน้าพรรคที่จะเรียกตนเองว่าพรรคประชาธิปไตยว่าจะเดินหน้าอย่างมีพลานุภาพได้อย่างไร

 

ความแหลมคมมากยิ่งกว่านั้นก็คือ พรรคการเมืองกับพลังทางการเมืองภายนอกรัฐสภา จะสามารถหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวโดยมีเป้าอยู่ที่”รัฐธรรมนูญ”ได้หรือไม่

นี่คือคำถาม นี่คือโจทย์ทางการเมืองภายหลังสถานการณ์เมื่อคืนวันที่ 17 มีนาคมอันทรงความหมายยิ่ง

นี่คือคำถามต่อเหล่า”นักเคลื่อนไหว”ทางการเมืองรุ่นใหม่