E-DUANG : พัฒนาการ การชุมนุม เคลื่อนไหว สภาวะ ไร้แกนนำ ไร้เวที ไม่มีการ์ด

พลันที่เกิดการเคลื่อนไหวในแบบ”ไม่มีแกนนำ”ผ่านการชุมนุม ณ บริ เวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และเคลื่อนขบวนไปยังบริเวณหน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

การเคลื่อนไหวนี้ตลอดวันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ได้กลายเป็น โจทย์ใหม่ในทางการเมืองขึ้นมาอย่างทรงพลังยิ่ง

ประเด็นที่แม้กระทั่ง นพ.ทศพล เสรีรักษ์ นักการเมืองจากพรรค เพื่อไทยที่เกาะติดอยู่กับการเคลื่อนไหวชุมนุมเกือบตลอดปี 2563 ต่อเนื่องมายังปี 2564 ก็บังเกิดความงุนงง

เป็นความงุนงงเพราะมีความแตกต่างจากการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 อย่างสิ้นเชิงเท่านั้น

หากแม้กระทั่งที่เคยเกิดขึ้นนับแต่เดือนกรกฎาคมผ่าน”เยาวชน ปลดแอก” กระทั่งยกระดับและพัฒนามาเป็น”คณะราษฎร 2563”ใน เดือนตุลาคมก็มีความแตกต่าง

เป็นความแตกต่างตรงที่ไม่มีแกนนำ ไม่มีเวที ไม่มีการปราศรัย ไม่มีการ์ด ไม่มีรถห้องน้ำ

คำถามก็คือแล้วการชุมนุม”เคลื่อนไหว”ได้อย่างไร

 

หากย้อนกลับไปศึกษาผ่านรายละเอียดและการสรุปของแพลทฟอร์มที่เรียกตนเองว่า REDEM ก็จะจับได้ว่าการกำหนดรายละ เอียดของการเคลื่อนไหวมิได้มาจากคนใดคนหนึ่ง

ที่สำคัญก็คือ มิได้มาจากองค์กรใดองค์กรหนึ่งตามความเคยชินในอดีต

อาจจะมี”ศูนย์ประสานงาน”ซึ่งกระทำในนามของ REDEM แต่เป็นการประสานงานผ่านแพลทฟอร์ม”เทเลแกรม”ในการสอบถามความเห็นว่าจะเคลื่อนไหวประเด็นใด

นั่นก็โดยการเสนอคำถามเหมือนกับเป็นตัวเลือกในแบบหลายตัวเลือกให้เครือข่ายที่ติดต่อกันอยู่ตอบ แล้วใช้เสียงส่วนมากจากคำตอบเป็นตัวตัดสินไม่ว่าจะเป็นวัน ประเด็นและจุดนัดหมาย

ความหมายจึงหมายความว่าเป็นการเคลื่อนไหวผ่านสภาพที่เรียกว่าประชาธิปไตย”ทางตรง”

 

คำถามที่ต้องขบคิดและพิจารณาก็คือ ประชาธิปไตย”ทางตรง”นี้มีเครือข่ายและความสัมพันธ์มากน้อยเพียงใด และมีหลักประกันใดที่จะตอบว่าจะมีคนเข้าร่วมหรือไม่อย่างไร

คำถามนี้ไม่เพียงแต่สังคมเท่านั้นที่อยากได้คำตอบ หากกลไกแห่งอำนาจรัฐก็ปรารถนาเป็นอย่างสูงเช่นเดียวกัน

ขณะที่คำตอบขึ้นอยู่กับปฏิบัติการที่เป็นจริงของการชุมนุม