E-DUANG : ปฏิบัติการ Tony Woodsome ศึกษา เปรียบเทียบ กับ “ไทยรักไทย”

การปรากฎขึ้นของ Tony Woodsome ไม่เพียงแต่จะส่งผลสะเทือนต่อ Tony Stark

หากแต่ทำให้เข้าใจความลึกซึ้งของ”การเมือง”มากยิ่งขึ้น

จะเข้าใจกรณีของ Tony Woodsome จำเป็นต้องเข้าใจต่อผลงานและความสำเร็จของพรรคไทยรักไทย โดยเฉพาะภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544

เพราะนั่นคือ การเข้ามาของกระบวนการ”คิดนอกกรอบ”

เป็นการคิดนอกกรอบซึ่งนำเสนอผ่านสโลแกนสั้นกระชับในทางการเมืองที่ว่า “คิดใหม่ ทำใหม่”

เชื่อหรือไม่ที่สโลแกนนี้ทุกวันนี้ก็ยังทรงความหมายเป็นอย่างสูง แม้กระทั่ง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ระหว่างที่ชี้แจงแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

คำๆหนึ่ง วลีๆหนึ่งซึ่งติดอยู่สองริมฝีปากของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อย่างไม่รู้ตัวก็คือคำว่า “คิดใหม่ ทำใหม่”

สะท้อนและยืนยันให้เห็นว่า แม้จะอยู่พรรคพลังประชารัฐแต่ก็ไม่เคยลืมความทรงจำแต่ครั้งเป็นรัฐมนตรีของพรรคไทยรักไทยจนวลีที่ว่า”คิดใหม่ ทำใหม่”ติดตรึงฝังแน่น

 

อย่าว่าแต่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน หรือแม้กระทั่ง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ ณ วันนี้ เป็นคนสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แน่ใจได้เลยว่า อดีตรองนายกรัฐมนตรีอย่าง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ฝังจำอยู่กับคำว่า “คิดใหม่ ทำใหม่”

เพราะในรัฐบาลพรรคไทยรักไทยหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมก ราคม 2544 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เคยเป็นทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

แม้หลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 จะเคยเป็นที่ปรึกษารัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แม้หลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 จะร่วมในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่รอยช้ำจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมทำให้หวนจำรำลึกไปยัง”คิดใหม่ ทำใหม่”อันมาจากพรรคไทยรักไทย

 

ก็จาก “คิดใหม่ ทำใหม่”มิใช่หรือที่ทำให้แม้จะมีการยุบพรรคไทยรัก ไทย แต่เมื่ออวตารมาเป็นพรรคพลังประชาชนก็ชนะ และเมื่อมาเป็น พรรคเพื่อไทยก็ชนะ

ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นกระบวนท่า”คิดใหม่ ทำใหม่”อัน Tony Woodsome เข้าไปมีส่วนร่วมด้วยอย่างเหลือเชื่อ

การปรากฏของ Tony Woodsome จึงน่าตื่นตาตื่นใจ