E-DUANG : บทบาท ต้านรัฐประหาร พม่า บทบาท ของพรรค ประชาชน

สถานการณ์ในพม่านับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้น เป็น 2 สถาน การณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในทางการเมือง

1 เป็นสถานการณ์ “รัฐประหาร”

ขณะเดียวกัน 1 เป็นสถานการณ์”ต่อต้าน”รัฐประหารอย่างทันท่วงทีและมีความต่อเนื่อง

ความคิดในการ”รัฐประหาร”ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องในหมู่ทหารผู้มีปืนและกองกำลังมาอย่างเสมอต้นเสมอปลายฉันใด ความคิดใน การ”ต่อต้าน”รัฐประหารของพลเมืองก็ดำรงอยู่อย่างคู่ขนานกันมา

ไม่ว่าจะเป็นบรรดาพลเมืองในประเทศพม่า ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองในประเทศไทย

จนแล้วจนรอดก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นสถาน การณ์ในเดือนสิงหาคม 2531 ของพม่า ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ในเดือนกันยายน 2549 ของไทย

ยิ่งหลังสถานการณ์เดือนพฤษภาคม 2557 ยิ่งมีการถกเถียง

สถานการณ์”ต่อต้าน”รัฐประหารในพม่าอันกำลังเกิดขึ้นและดำรงอยู่ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์จึงมีความสำคัญ

 

ความสำคัญในที่นี้ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ กระแส”ต่อต้าน”รัฐประหาร ที่ปรากฏไม่เพียงแต่ดำรงอยู่ภายในสังคมพม่าเท่านั้น หากแต่เด่นชัดยิ่งจากความรู้สึกร่วมในทางสากล

ยิ่งกว่านั้น ปรากฏการณ์”ต่อต้าน”รัฐประหารของชาวพม่าก็ดำเนินไปอย่างแนบแน่นกับพรรคการเมืองสำคัญ

ไม่ว่าจะเป็นการลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวที่กรุงเนปิดอว์ ไม่ว่าจะเป็นการลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวที่กรุงย่างกุ้ง ไม่ว่าจะเป็นการลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวที่กรุงมัณฑเลย์ หรือเมืองเมียวดี

1 สะท้อนบทบาทของเยาวชนคนหนุ่มสาวอันเป็นกองหน้าที่กล้าหาญ ขณะเดียวกัน 1 สะท้อนบทบาทของพรรคการเมืองอันมี นางอองซาน ซูจี เป็นหัวหน้า

แสดงว่าพรรคนี้มีการบริหารจัดการทางการเมืองที่เข้มแข็ง

ยิ่งแนวทางของพรรคแนบแน่นอยู่กับแนวทางของประชาชน ยิ่งทำให้พลังในการขับเคลื่อนมีเอกภาพเป็นเนื้อเดียวกันและทรงพลัง

 

พรรคการเมืองในสังคมประเทศไทยประสบกับภัยคุกคามจากขบวน การ”รัฐประหาร”มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน แต่ก็ไม่สามารถลุกขึ้นมาแสดงพลัง”ต่อต้าน”อย่างมีความหมาย

นี่คือความแตกต่างระหว่างพรรคของนางอองซาน ซูจี กับทุกพรรคการเมืองในสังคมการเมืองไทยโดยพื้นฐาน

ความแตกต่างนี้มิใช่เพราะบารมีของพรรคการเมืองเท่านั้น

หากที่สำคัญเป็นอย่างมาก คือพัฒนาการจาก”พรรคสภา”ไปสู่ การเป็น”พรรคมวลชน”ที่เข้มแข็ง เกรียงไกรอีกด้วย