E-DUANG : ทิศทาง แนวโน้ม เคลื่อนไหว เศรษฐกิจ ประสาน การเมือง

จำนวน “คนบ้างโป่ง”ที่เดินเท้ามาจากราชบุรี ผ่านนครปฐม ผ่านอนุ สาวรีย์ประชาธิปไตย เข้าไปปักหลักอยู่ ณ บริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐ์ หน้าทำเนียบรัฐบาล อาจไม่มาก

เหมือนกับเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ร่วมกันติดป้ายผ้า # บางกลอย ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กับ บอย ธัชพงศ์

เหมือนกับเยาวชนที่ไปวิ่งออกกำลังกายโดยรอบๆอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วถูกตำรวจนับสิบล้อมและจับกุมตัวไปเพื่อปรับในความผิดพรบ.ความสะอาดที่ สน.สำราญราษฎร์

กระนั้น เมื่อประสานเข้ากับการนัดรวมพลของ”คนแรงงาน”และคนจนเมืองที่มุ่งไปยังบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลในวันอังคารที่ 26 มกราคม ก็ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่

เดือนกรกฎาคม 2563 เป้าหมายของ”เยาวชนปลดแอก”อาจอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่มาถึงเดือนมกราคม 2564 เป้าหมายของการชุมนุมกลับพุ่งไปยังทำเนียบรัฐบาล

ทั้งมิได้เน้นเนื้อหาที่การเมืองเรื่อง”ประชาธิปไตย” หากแต่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ”ปากท้อง”ของประชาชน

 

ถามว่าทำไมเยาวชนที่เคยเคลื่อนไหวในนาม”ราษฎร”จากเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนธันวาคม 2563 จึงเริ่มทะยอยกันไปอยู่ในท่าม กลางปัญหาของชาวบ้าน

ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านที่จะนะ สงขลา ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านที่บ้านโป่ง ราชบุรี ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านที่วังสะพุง เลย

รวมถึงปัญหาของชาวกะเหรี่ยง ที่บางกลอย แก่งกระจาน

ยิ่งกว่านั้น เมื่อเคลื่อนไหวในกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่องใน ตอนนี้กลุ่ม WeVolunteer ก็เดินทางไปเปิดศูนย์เพื่อฝึกอบรมบ่มสร้างอาสาสมัครที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ตั้งเป้าว่าจะระดมให้ได้ 100 รุ่น เพื่อเป็นกำลังในการขับเคลื่อนในสังคมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือร่วมกับกลุ่มดาวดิน กลุ่มสามัญชนให้จงได้

จากที่เคยเคลื่อนไหวจำเพาะแต่ในกลุ่มเยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษาก็เริ่มเข้าไปอยู่ในการเคลื่อนไหวของประชาชน

 

มิติการเคลื่อนไหวในปี 2564 จึงเท่ากับเป็นการสรุปบทเรียนจากที่เคยปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องจากเดือนกรกฎาคมกระทั่งเดือนธันวาคม 2563

เป็นการประสานเยาวชนกับประชาชน เป็นการประสานเนื้อหาในทางเศรษฐกิจเข้ากับเนื้อหาในทางการเมือง

นี่คือแนวโน้มใหม่ในทางการเมือง ในทางเศรษฐกิจ