E-DUANG : สถานการณ์ จลาจล วอชิงตัน สะท้อน ประชาธิปไตย ในไทย

กรณีอันเกิดขึ้นกับรัฐสภาอเมริกัน แม้จะมีผู้พยายามขยายให้กลาย เป็นเรื่องของความเสื่อมทรุดตกต่ำของระบอบประชาธิปไตยในสังคมอเมริกัน

แต่ยิ่งติดตาม ยิ่งรับรู้ในรายละเอียดและผลสะเทือนตามมากลับกลายเป็นไปในทางตรงกันข้าม

แทนที่จะเป็นความเสื่อมทรุดกลับสะท้อนความแข็งแกร่ง

ยิ่งเมื่อนำเอาสภาพการณ์ที่ละม้ายเหมือนกันเป็นอย่างยิ่งอันเกิดขึ้นในสังคมอเมริกันมาเปรียบเทียบกับสภาพการณ์อันเคยเกิดขึ้นในสังคมไทย

ยิ่งตระหนักในความแข็งแกร่งและมั่นคงด้วยจิตวิญญาณแห่ง ความเป็นประชาธิปไตยของสังคมอเมริกัน ขณะที่กล่าวสำหรับภาย ในสังคมไทยกลับอ่อนแอ เปราะบางมากกว่า

ไม่ว่าจะมองไปยังกองทัพ ไม่ว่าจะมองไปยังสถาบันตุลาการ ไม่ว่าจะมองไปยังสถาบันนิติบัญญัติ รวมถึงพรรคการเมือง

บรรทัดสุดท้ายของสถานการณ์ต่างหากคือ “คำตอบ”

 

เหตุการณ์ละม้ายเหมือนกันนี้เคยเห็นอย่างเด่นชัดในห้วงก่อนเดือน กันยายน 2549 และเกิดขึ้นซ้ำอีกในห้วงก่อนเดือนพฤษภาคม 2557

แต่ละเหตุการณ์มีตัวละครมากมายเข้าร่วม

รูปธรรมก็คือ บทบาทของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในห้วงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2549 รูปธรรมก็คือ บทบาทของมวลมหาประชาชนกปปส.ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2556

การเคลื่อนไหวนี้ไม่เพียงแต่มีประชาชนที่ต้องการกู้ชาติ ประชาชนที่ต้องการปฏิรูปการเมืองเข้าร่วม หากแต่ยังมีพรรคการเมืองและนักการเมืองจำนวนหนึ่งเข้าร่วม

จึงเป็นการเคลื่อนไหวที่ประสานระหว่างในรัฐสภากับบนท้องถนนเข้าด้วยกัน ร่วมกันใส่เสื้อสีเดียวกัน ให้กำลังใจกันและกัน ร่วม เป่านกหวีดด้วยกัน

และเมื่อสถานการณ์สุกงามทหารก็ออกมาทำ”รัฐประหาร”

บทจบนี้ย่อมแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกัน อย่างที่เห็นกันเมื่อวันที่ 7 มกราคม

 

สังคมอเมริกันรอดพ้นจากความพยายามก่อรัฐประหารโดยประธานาธิบดี เพราะความแข็งแกร่ง เพราะจิตวิญญาณประชาธิปไตยได้เอิบอาบซาบซ่านอยู่อย่างเป็นด้านหลัก

แต่สังคมไทยสถาบันกองทัพ สถาบันการเมืองกลับฉวยคว้าจากสถานการณ์แล้วร่วมกันก่อ”รัฐประหาร”