E-DUANG : บทบาท ก้าวไกล ผู้แทนราษฎร บทบาท ของผู้ซึ่ง ไม่ยอมจำนน

การเปิดอภิปรายในเรื่องรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับสถานการณ์การรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 จากพรรคก้าวไกลอาจมิได้เป็นนวัตกรรมใหม่ในทางการเมือง

เพราะก่อนหน้านี้ นายทักษิณ ชินวัตร ก็เสนอแนวทาง”ป้องกัน” นำ”การควบคุม”มาแล้วอย่างแหลมคมยิ่ง

เพราะก่อนหน้านี้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าก็ร่ายยาวว่าด้วยแต่ละมาตรการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเสนอทางออกได้อย่างยอดเยี่ยม

ประสานเข้ากับการอภิปรายหมู่ที่จัดโดยพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะมาจาก นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง

กระนั้น ก็ต้องยอมรับว่าจังหวะก้าวจาก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เป็นจังหวะก้าวที่รัฐสภา”ปิด”การประชุมอย่างยอมจำนนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19

ตรงนี้ต่างหากที่ทำให้จังหวะก้าวของพรรคก้าวไกลมีความโดดเด่นและยืนยันถึงแนวคิดที่ไม่ยอมจำนนอย่างหมอบราบคาบแก้ว

 

พลันที่รัฐสภามีมติปิดการประชุมเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เสียงค้านจาก พรรคก้าวไกลก็ดังกึกก้อง ไม่ว่าจะเป็นการประชุมตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมของคณะกรรมาธิการ

เป็นการค้านท่ามกลางความเงียบงันของ”ผู้แทนราษฎร”จากพรรคร่วมรัฐบาล

คล้ายกับว่ามติอันมาจากรัฐสภาเป็นการยอมรับต่อสภาพอันเลวร้ายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ที่รัฐสภา ไม่ควรจะทำตัวเป็นแหล่งแพร่ของไวรัส

คำถามที่ตามมาก็คือ รัฐสภาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สภาผู้แทนราษฎรมีรากฐานมาจากการเลือกของประชาชน ได้รับการแต่งตังผ่านคะแนนเสียงของประชาชน

นี่คือสถาบันเดียวที่แนบแน่นอยู่กับประชาชนอย่างใกล้ชิด

การปิดรัฐสภาเท่ากับเป็นการตัดโอกาสไม่เพียงแต่จะรับฟังหากแต่ยังตัดโอกาสในการหารือร่วมกันของ”ผู้แทนราษฎร”

 

การอภิปรายนอกสภาที่จัดโดยพรรคก้าวไกลอาจเป็นการจัดผ่านระบบออนไลน์ ด้วยการไลฟ์สด เท่ากับเป็นการยืนยันว่าอย่างน้อยใน”ผู้แทนราษฎร”ก็ยังมีช่องทาง

1 เป็นช่องทางในการติดต่อกับ”ราษฎร” 1 เป็นช่องทางในการแสดงความเห็นและเสนอทางออกเพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหา