E-DUANG : เพียงเปล่งคำ นะจ๊ะนะจ๊ะ ออกมา สำเนียงก็ส่อกิริยา ภาษาก็ส่อสกุล

ปฎิกิริยาต่อคำว่า “นะจ๊ะ นะจ๊ะ”มิได้เป็นเรื่องของตัวบุคคลเพียงด้านเดียว หากแต่ยังสะท้อนความสัมพันธ์อันมากกว่าตัวบุคคลอย่างเด่นชัด

นี่เป็นเรื่องของ”บริบท”ที่แวดล้อมในการสำแดงออกเป็นคำพูดออกมาว่าเป็นอย่างไร

ในที่สุดแล้วก็เป็นเรื่องของ”กาละ” เป็นเรื่องของ”เทศะ”

นั่นก็คือ เป็นการกล่าวออกมาในสถานการณ์อย่างไรและมีเป้า ประสงค์ในการเปล่ง

เหมือนกับผู้พูดจะต้องการแสดงความสนิทสนม เป็นกันเอง

ยิ่งหากผู้พูดมียศทางทหาร ทางตำรวจหรือเป็นข้าราชการพลเรือนในระดับสูง การเอ่ยเอื้อน”นะจ๊ะ นะจ๊ะ”ออกมาเท่ากับเป็นการ แสดงความสนิทสนม

เหมือนกับผู้พูดอยากให้ผู้ฟังรับรู้ในความเป็นกันเอง ไม่ถือเนื้อ ไม่ถือตัว

ปมเงื่อนอยู่ที่ว่ากำลังพูดเรื่องอะไรในสถานการณ์ใด

 

สมมติว่าเป็นการแถลงในเรื่องซึ่งแหลมคม ฉวดเฉียดกับความตาย ก่อความเสียหายอย่างร้ายแรง โดยมีผู้คนจำนวนมากรอคอยจะรับสารอันเป็นความเดือดร้อนทางสังคม

โดยที่ผู้พูดสมมติว่าเป็นหัวหน้ารัฐบาล เป็นหัวหน้างานในการ รับผิดชอบต่อเรื่องร้ายแรงนั้นๆ

ผู้รับสารย่อมต้องการความจริงจัง หนักแน่นอย่างเพียงพอ

ท่าทีในแบบเล่นหัวย่อมไม่เหมาะสม หรือเล่นหัวในแบบที่วางตนเหนือกว่าผู้ฟังในแบบที่นายทหารกำลังพูดอบรมต่อพลทหารหรือไอ้เณรย่อมมิใช่

คำว่า”นะจ๊ะ นะจ๊ะ”อันปรากฏออกมาจึงกลายเป็นการเล่นหัวขณะที่ผู้คนเขาอยากได้ยินได้ฟังในเรื่องเคร่งเครียดจริงจังเพราะว่าสัมพันธ์กับชีวิตและการเอาตัวรอด

ที่มีคนสรุปว่าเป็นการแสดงออกอย่างไม่รู้กาละไม่รู้เทศะจึงถูก

ยิ่งหากคนพูดเป็นถึงหัวหน้าในหมู่หัวหน้าทั้งปวงยิ่งเป็นเรื่องที่มีสภาวะแปลกปลอมเป็นอย่างสูง

 

แปลกอย่างยิ่งที่เมื่อได้ยินคำว่า”นะจ๊ะ นะจ๊ะ”ดังขึ้นในบรรยากาศแห่งโรคระบาด มีคนจำนวนมากนึกถึงการแถลงของผู้นำจากสิงคโปร์ ผู้นำจากนิวซีแลนด์

โชคดีอย่างยิ่งที่ชาวสิงคโปร์และชาวนิวซีแลนด์ได้”ผู้นำ”ที่รู้กาละเทศะเป็นอย่างดี