E-DUANG : สร้างพันธมิตร ภายในแนวร่วม แสวง”จุดร่วม” สงวน”จุดต่าง”

ประหนึ่งว่าการปรากฏขึ้นของ”เยาวชนปลดแอก”จะฉายสะท้อนช่อง ว่างระหว่างวัยออกมาอย่างเด่นชัด

นั่นก็คือ ระหว่างคนรุ่นเก่า กับ คนรุ่นใหม่

นั่นก็คือ ระหว่างคนที่มีลักษณะอนุรักษนิยม จารีตนิยม กับเสรีนิยม

ความขัดแย้งนี้เหมือนกับจะแยกระหว่างคนที่มีความคิดที่โน้มเอียงไปทาง “อ-ประชาธิปไตย” กับ คนที่มีความคิดที่โน้มเอียงไปทาง “ประชาธิปไตย”

กระนั้น ภายในความขัดแย้งนั้นก็มิได้แยกจำแนกอย่างง่ายๆเช่นนั้นเพราะแม้กระทั่งในกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่านิยมชมชอบ”ประ ชาธิปไตย”ต่อต้าน”เผด็จการ”

ก็มิใช่ว่าจะเออออห่อหมกเดินตามกันไปอย่างเชื่องๆ เพราะว่า ภายในขบวนประชาธิปไตยก็แยกจำแนกออกเป็นรุ่นๆตามแต่ยุคสมัยของแต่ละคนเช่นเดียวกัน

จึงปรากฏคนรุ่นตุลาคม 2516 รุ่นตุลาคม 2519 รุ่นพฤษภาคม 2535 รุ่นพฤษภาคม 2553

 

หากนับจาก 2516 มาถึง 2563 ก็มีระยะห่าง 47 ปี หากนับจาก 2519 มาถึง 2563 ก็มีระยะห่าง 44 ปี หากนับจาก 2535 มาถึง 2563 ก็มีระยะห่าง 28 ปี

เช่นเดียวกับ หากนับจาก 2553 มายัง 2563 ก็มีระยะห่าง 10 ปี

น่าสนใจก็ตรงที่การเชื่อมระหว่างคนรุ่น 2553 กับคนรุ่น 2563 กลับกระทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าที่เห็นเมื่อเดือนกันยายน ไม่ว่าที่เห็นเมื่อเดือนพฤศจิกายน

สังคมเห็นรุ่นพี่ที่เป็น”คนเสื้อแดง”โบกสบัดธงร่วมอยู่ในการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ และยิ่งบนถนนอักษะยิ่งเห็นความสัมพันธ์อัน แนบแน่นมากขึ้นเป็นทวีคูณ

เส้นแบ่งเพียง 10 ปีจึงแตกต่างไปจาก 28 ปีของรุ่น 2535 และ 44 ปีของรุ่น 2519 และ 47 ปีของรุ่น 2516

รอยร้าวนี้ปรากฏเป็น”จุดต่าง”ในท่ามกลางความเคลื่อนไหว

 

ความต่างในทางความคิดมิได้เป็นเรื่องนอกเหนือความคาดหมาย เนื่องจากแต่ละรุ่นต่างมีประสบการณ์ความจัดเจน และน้อยคนนักจะแยกความจัดเจนอันเป็นประสบการณ์ออกไปได้โดยง่าย

ปมเงื่อนอยู่ที่จะแสวง”จุดร่วม”และสงวน”จุดต่าง”กันอย่างไร

หากเสาะหาได้อย่างเหมาะสมก็จะก่อให้เกิดพัฒนาการขึ้นได้