E-DUANG : สถานะ รัฐธรรมนูญ 2560 สถานะ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อาจมีส่วนในการสร้างเสริมและเติมเต็มอำนาจทางการเมืองให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กับการสืบ ทอดอำนาจ”ระบอบรัฐประหาร”ของคสช.

แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ก็มีลักษณะ”บั่นทอน”อำนาจคสช.อำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปด้วยในขณะเดียวกัน

นี่คือลักษณะอันเป็น”ดาบสองคม”ของ”รัฐธรรมนูญ”

เพราะว่าจิตวิญญาณแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เริ่มต้นจากต้องการลบช่องว่างรอยโหว่จากสภาพที่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ดำรงอยู่ในลักษณะรัฐประหาร”เสียของ”

1 คมช.ได้อำนาจมาแล้วกลับไม่เสพเสวยอำนาจด้วยตนเอง กลับมอบอำนาจให้กับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

1 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อยู่ในอำนาจเพียง 1 ปีก็จร

คสช.จึงขึ้นเสพเสวยอำนาจด้วยตนเองผ่านการเป็นนายกรัฐ มนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และต้องการเป็นต่อไป

แล้วก็ใช้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นเครื่องมือทางการเมือง

 

ยุทธศาสตร์การใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นเครื่องมือทางการเมือง ในการสืบทอดอำนาจนี้เองกลับเป็นดาบอีกคมหนึ่งซึ่งสังคมมองเห็น ตลอด 6 ปีในการประกาศและบังคับใช้

แม้เป้าหมายจะคือพรรคเพื่อไทย แต่พรรคการเมืองอื่นก็ได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญไปด้วย

ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย

แม้กระทั่งพรรคอนาคตใหม่ซึ่งทะยานขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากความนิยมที่ได้รับในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ก็ถูกพิษแห่งรัฐธรรมนูญทำลายลงไปอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะผ่านการตัดสิทธิ์ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ว่าจะผ่านการยุบพรรคอนาคตใหม่ ตัดสิทธิ์กรรมการบริหาร นำไปสู่ปฏิบัติการซื้อตัว”งูเห่า”ทางการเมืองอย่างคึกคัก

ในที่สุดความไม่พอใจก็ปะทุผ่าน”เยาวชนปลดแอก”

อีกคมหนึ่งของรัฐธรรมนูญแปรการรุกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลายเป็นตั้งรับอย่างต่อเนื่อง

 

ด้านหนึ่ง รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อาจมีส่วนให้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความต่อเนื่อง แต่ด้านหนึ่ง พิษของรัฐธรรม นูญก็บ่อนเซาะอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

การรุกไล่ในทางสังคมทำให้สถานะของรัฐธรรมนูญง่อนแง่นโงนเงนเหมือนสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา