E-DUANG : ​​​การปะทะ ความคิด แหลมคม เพรียกหา และต้าน รัฐประหาร

สภาพการณ์ทางการเมืองอย่างที่”เยาวชนปลดแอก”ออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องจากเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน ตุลาคม เรื่อยมาจนเหยียบเข้าเดือนพฤศจิกายน

หากเป็นใน “อดีต” มีแนวโน้มและความเป็นไปได้สูงอย่างยิ่งที่จะเกิด”รัฐประหาร”

อย่าได้แปลกใจไปเลยหากจะมีแกนนำ”คนเสื้อเหลือง”ออกมาเรียกร้องและกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาประกาศกฎอัยการศึก ใช้”อำนาจพิเศษ”

อย่าได้แปลกใจไปเลยหากจะมีแกนนำ”คนเสื้อเหลือง”เดินสายไปเรียกร้องและกดดันให้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ออกมา”รัฐประหาร”แล้วดำเนินมาตรการ”แช่แข็ง”ประเทศ

ได้ยินแล้วก็คุ้นเหมือนกับสถานการณ์ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เหมือนกับสถานการณ์ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ได้หวนกลับมา

เป็นบรรยากาศแบบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็น บรรยากาศแบบชัตดาวน์ของมวลมหาประชาชนกปปส.

 

ความเชื่อนี้จำหลักหนักแน่นอย่างยิ่งอยู่ในสังคมไทย ขณะเดียวกัน หากดูจากท่าทีของ”เยาวชนปลดแอก”และ”คณะราษฎร 2563”กลับนำเสนอจุดยืนสำคัญอย่างแน่วแน่

นั่นก็คือ จุดยืน 1 ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร 1 ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลแห่งชาติ

เท่ากับยืนหยัดให้ใช้กระบวนการในทาง”รัฐสภา”แก้ไข

คำประกาศจุดยืนนี้ของ”เยาวชนปลดแอก”เมื่อประสานเข้ากับการเคลื่อนไหวโดยไร้แกนนำอันมาจาก”คณะราษฎร 2563”ทำให้เกิดการประจันหน้าในทางความคิดอย่างแหลมคม

เป็นความคิดที่เรียกร้องต้องการ”รัฐประหาร” กับ ความคิดที่ต่อต้านและคัดค้านการ”รัฐประหาร”

คำถามอยู่ที่ว่าความคิดใดมีความแข็งแกร่ง มั่นคงยิ่งกว่ากัน

คำถามยังอยู่ที่ว่าความคิดใดเชื่อมั่นในพลังของตน ความคิดใดฝากความเชื่อมั่นไว้กับพลังอื่น

 

ความคิดเรียกร้องต้องการ”รัฐประหาร”ฝากความหวังไว้กับกองทัพไว้กับทหาร ความคิดต่อต้านการ”รัฐประหาร”ฝากความหวังไว้กับประชาชน และแสดงออกให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม

นี่คือจุดปะทะในทางความคิดอันเป็นก้าวสำคัญทางการเมือง

เป็นจุดปะทะอันไม่มีหลักประกันว่า”รัฐประหาร”จะราบรื่น ไม่มีหลักประกันว่าจะคุม”ทิศทาง”และ”เป้าหมาย”ได้หรือไม่