E-DUANG : กระบวนท่า วิทยายุทธ์ การเมือง ประสบการณ์ ของ ชวน หลีกภัย

ยิ่งเคลื่อนไหวไปพบและหารือกับ”อดีต”นายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็น นายอานันท์ ปันยารชุน ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ยิ่งทำให้ นายชวน หลีกภัย มากด้วยความมั่นใจ

เป็นความมั่นใจที่จะต่อสายไปยัง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หรือแม้กระทั่ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ตาม

ทั้งหมดดำเนินไปบนหลักการ วิสาสา ปรมา ญาติ

แม้ว่าขณะนี้ นายชวน หลีกภัย จะดำรงอยู่ในสถานะแห่งประธานรัฐสภา แต่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2535 นายชวน หลีกภัย คือ นายกรัฐมนตรี

และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2540 นายชวน หลีกภัย คือ นายกรัฐมนตรี

ในเมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีอย่าง นายชวน หลีกภัย พบกับอดีตนายกรัฐมนตรีคนอื่นๆไม่ว่า นายอานันท์ ปันยารชุน ไม่ว่า พล.อ.สุร ยุทธ์ จุลานนท์ จึงย่อมคุ้นเคยกันเสมอกับเป็นดั่งญาติ

และผลจากการสนทนา หารือและแลกเปลี่ยนกันนั้นเองที่นำความมั่นใจอย่างสูงมาให้กับ นายชวน หลีกภัย

 

ไม่จำเป็นต้องมีการตราพระราชกำหนด ไม่จำเป็นต้องมีการประกาศ และแต่งตั้งออกมาในนามของ”คณะกรรมการสมานฉันท์”ตามมติจากที่ประชุมรัฐสภาด้วยซ้ำ

แต่การสนทนาด้วยระยะเวลาอันสั้นและการตอบรับอย่างรวดเร็วจากอดีตนายกรัฐมนตรี

มีหรือที่คนระดับ นายชวน หลีกภัย จะอ่านไม่ออกแทงไม่ทะลุ

อ่านออกว่าปัญหาอันเกิดขึ้นจากการบริหารจัดการของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีทิศทางและแนวโน้มว่าอาจจะกลายเป็น”วิกฤต”อย่างแน่นอน

และแทงทะลุว่ามีแต่ต้องพึ่งประสบการณ์และความจัดเจนจากอดีตนายกรัฐมนตรีไม่ว่า นายอานันท์ ปันยารชุน ไม่ว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จึงจะสามารถหาทางออกได้

ประเด็นอยู่ที่ว่าคนเปี่ยมด้วยความจัดเจนระดับ นายชวน หลีกภัย จะเลือกกรรมวิธีและกระบวนการอย่างไร

 

ที่เคยมีคนคาดหมายว่า การชงอันมาจากพรรคประชาธิปัตย์โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ นั้นเป้าหมายก็เพื่อให้ตกมาอยู่ในมือของ นายชวน หลีกภัย นั้นผลจะดำเนินไปอย่างไร

นี่ย่อมมิใช่ท่วงท่าอาการในแบบ”ชวน เชื่องช้า”อย่างแน่นอน

ตรงกันข้าม การหารือผ่าน นายอานันท์ ปันยารชุน คือกระบวนท่า เช่นเดียวกับเมื่อจะหารือกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์