E-DUANG : ​ภาพ 2 ภาพ บนเวที “ดีเบต” ภาพผู้อาวุโส กับ ภาพผู้เยาว์

ทั้งๆที่การปรากฏขึ้นของเยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษา ผ่านนามแห่ง”เยาวชนปลดแอก” ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อเดือนกรกฎาคม

กระทั่งพัฒนามาเป็น”คณะราษฎร 2563”ในการเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลเมื่อเดือนตุลาคม

ถูกมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวก้าวร้าว หยาบคาย

แต่เหตุใดเมื่อมีการนำเอาบรรดา”ผู้อาวุโส”แห่งพรรคพลังประชารัฐและกองเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเป็น น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ไม่ว่าจะเป็น นายไพบูลย์ นิติตะวัน ไม่ว่าจะเป็น นายสิริ เจนจาคะ หรือแม้กระทั่ง น.ส.อุ๊ หฤทัย

ขึ้นบนเวทีในการดีเบตกับเด็กๆอย่างน้องมายด์ อย่างฟอร์ด ทัตเทพ อย่าง ไผ่ ดาวดิน ภาพแต่ละภาพอันปรากฎ เสียงแต่ละเสียงอันดังก้อง ณ เบื้องหน้าชาวบ้าน

กลับกลายเป็นว่าน้องๆตั้งรับได้อย่างสุภาพ อ่อนน้อม เยือกเย็น

ตรงกันข้าม ความหยาบคาย ก้าวร้าว ข่มขู่และคุกคามกลับมาจากทางด้านของ”ผู้อาวุโส”เด่นชัด

 

ท่าทีของ”ผู้อาวุโส” เป็นท่าทีของผู้ซึ่งอ้างว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน มีความรอบรู้มากกว่า มีประสบการณ์ในชีวิตมากกว่า และมองไปยังอีกฝ่ายว่าเป็นเด็กๆ ไร้เดียงสา ไม่มีประสบการณ์

จึงมักจะเป็นท่าทีในการประสิทธิ์ ประสาท จึงมักจะเป็นท่าทีในการข่มขู่ คุกคาม เมื่อไม่ได้ดั่งใจ

ไม่ต้องพูดถึงมารยาทในการสนทนาที่จะต้องให้เกียรติอีกฝ่าย ไม่ต้องพูดถึงความอดทน อดกลั้นเมื่อมีการแสดงความเห็นต่างปรากฏออกมา

อาการมึงวาพาโวยจึงมักจะมาจาก”ผู้อาวุโส” อาการเอะอะมะเทิ่งจึงมักจะมาจาก”ผู้อาวุโส” ตรงกันข้าม “ผู้เยาว์”กลับเปี่ยมด้วยความสุขุม อดทน อดกลั้น

กลายเป็นว่าผู้มากประสบการณ์กลับก้าวร้าว กลับรุนแรง

อย่าได้แปลกใจหากจะมีมติภายในพรรคพลังประชารัฐห้าม ส.ส.บางคนออกไปดีเบตกับเด็กๆอีกเพราะกลัวจะเสียภาพลักษณ์

 

จากนี้จึงเด่นชัดอย่างยิ่งว่า การตัดสินคนๆหนึ่ง การตัดสินพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง จะพิจารณาเพียงคำพูดหรือแถลงการณ์อันสวยหรูไม่ได้

ปัจจัยสำคัญจึงขึ้นอยู่กับการปฏิบัติที่เป็นจริงในทางสังคม

บทสรุปที่ว่า เมื่อท่านพูดคนเขาจะฟัง เมื่อท่านลงมือทำอย่างที่พูดคนเขาจะให้ความเชื่อมั่นและศรัทธา

การปฏิบัติอย่างที่พูดคือบทตรวจสอบในขั้นสุดท้าย