E-DUANG : รอยแยก กรรมการ สมานฉันท์ พลังประชารัฐ กับ ประชาธิปัตย์

น่าเห็นใจ “อดีต” นายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็น นายอานันท์ ปันยารชุน ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ไม่ว่าจะเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เพียงแสดงไมตรีจิตตอบรับคำเชิญเข้าร่วม”คณะกรรมการ สมานฉันท์” อันมาจาก นายชวน หลีกภัย

ก็ถูกโยน”ก้อนอิฐ”เข้าใส่จาก “พรรคพลังประชารัฐ”

บรรดาตำหนิ ใฝฝ้า ราคีที่เคยติดข้องอยู่กับ นายอานันท์ ปันยารชุน อยู่กับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อยู่กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ว่ายุคใดสมัยใดก็ถูกลากออกมาประจานสาดเสียเทเสีย

บางคนที่เคยประกาศหลักการ”น้อมนำคำสอนของพระพุทธเจ้า”มาเป็นแนวทาง ก็เริ่มแสดงความเขี้ยวในทางกฎหมาย โดยจะนำขึ้นฟ้องร้อง

แนวโน้มอันเด่นชัดยิ่งก็คือ มีความเป็นไปได้ที่จะขยายการด่าไปยัง นายชวน หลีกภัย ซึ่งเป็นเจ้ากี้เจ้าการ

และที่สุดพรรคประชาธิปัตย์ก็จะกลายเป็น”แพะรับบาป”

 

ต้องยอมรับว่าข้อเสนอว่าด้วย”คณะกรรมการสมานฉันท์”เป็นความ คิดริเริ่มอย่างสร้างสรรค์จากพรรคประชาธิปัตย์ โดย นายจุรินทร์ ลัก ษณวิศิษฎ์ เป็นผู้อภิปรายด้วยตนเองในที่ประชุมรัฐสภา

ที่สุดก็กลายเป็นความเห็นร่วมและมอบบทบาทนี้ให้เป็นของรัฐสภานั่นก็คือ นายชวน หลีกภัย ในฐานะประธาน

จากโครงสร้างที่มีการอภิปรายในรัฐสภาและสถาบันพระปกเกล้านำนามธรรมในทางความคิดไปแปรเป็นรูปธรรมทางการปฏิบัติได้เสนอออกมา 2 แนวทาง

แนวทาง 1 เป็นการดึงคู่ความขัดแย้งแต่ละฝ่ายให้มาร่วมอยู่ในเวทีเดียวกัน แต่ก็ถูกปฏิเสธอย่างทันควัน จึงเหลืออีกแนวทาง 1 คือ การเชิญอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานสภามาหารือหาทางออก

นั่นแหละจึงมีการติดต่ออดีตนายกรัฐมนตรี นั่นแหละจึงมีการติดต่ออดีตประธานสภาเพื่อมาร่วมเป็นคณะกรรมการ

แต่แล้วก็เกิดน้ำเสียงไม่เห็นด้วยจากพรรคพลังประชารัฐ

 

จากการไม่เห็นด้วยของพรรคพลังประชารัฐ แม้ด้านหลักอาจไม่เห็นด้วยที่รัฐสภาเชิญบรรดาอดีตนายกรัฐมนตรีมาเข้าร่วม ในที่สุดการไม่เห็นด้วยนี้ก็จะบานปลายขยายไปยังพรรคประชาธิปัตย์

กลายเป็นจุดแห่งการปะทะระหว่าง 2 พรรคร่วมรัฐบาล คือ พรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์

ในที่สุด การประสาน”งาน”ก็กลายเป็นประสาน”งา”

กรรมจึงตกกับ นายชวน หลีกภัย กรรมจึงตกกับ พรรคประชา ธิปัตย์ อย่างน่าเห็นใจยิ่ง