E-DUANG : ​​​ภาพ การชุมนุม ยุค”ดิจิทัล” กับ ภาพเด่น ยุค”อะนาล็อก”

ยากเป็นอย่างยิ่งที่คนซึ่งเติบใหญ่มาในยุคแห่ง”อะนาล็อก”จะเข้าใจต่อคนซึ่งเกิดและเติบใหญ่มาในยุคแห่ง”ดิจิทัล”ได้

ไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่างจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

ขอให้ดูบรรดา ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ

เมื่อ ส.ส.นักเรียนนอกอย่าง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ เผชิญหน้ากับ “น้อยมายด์” ผลออกมาเป็นอย่างไร

เมื่อ ส.ส.ซึ่งเคยเป็น ส.ว.ในกลุ่ม 40 รุ่นเดียวกับ นายสมชาย แสวงการ อย่าง นายไพบูลย์ นิติตะวัน เผชิญหน้ากับน้องๆจากเครือ ข่ายประชาธิปไตยรามคำแหง ผลออกมาเป็นอย่างไร

พูดตามสำนวนของชาวบ้านก็ต้องระบุว่าพูดกันไม่รู้เรื่อง ทั้งที่เป็นการสื่อกันด้วยภาษาไทย แต่เนื่องจากเป็นภาษาไทยคนละรุ่นคนละยุคจึงไม่สามารถส่ง”สาร”ได้อย่างครบถ้วน

อย่าว่าแต่ ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐเลย แม้กระทั่ง ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ จากพรรคภูมิใจไทย ก็จะมีปัญหา

 

หากเริ่มต้นทำความเข้าใจความขัดแย้งแตกแยกอันกำลังกลายเป็นปัญหา และกำลังพัฒนาเข้าสู่วิกฤตครั้งใหญ่ จากพื้นฐานในทางสังคมวิทยา

ก็ต้องแทงทะลุไปยังพื้นฐานนั่นก็คือ แต่ละฝ่ายล้วนมาจากราก ฐานในทางสังคมที่แตกต่างกัน

สภาพแวดล้อมจึงเป็นเครื่องกำหนด”ความคิด”

ในเมื่อคนอย่าง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ในเมื่อคนอย่าง นายไพ บูลย์ นิติตะวัน อยู่ในสภาพแวดล้อมของการเมืองเก่า การเมืองในยุคน้ำเน่า จึงยากเป็นอย่างยิ่งที่จะพูดกับน้องๆรู้เรื่อง

ไม่ว่าน้องคนนั้นจะชื่อว่า “อานนท์” ไม่ว่าน้องคนนั้นจะชื่อ”มายด์” ไม่ว่าน้องคนนั้นจะชื่อ”เพนกวิน” ไม่ว่าน้องคนนั้นจะชื่อว่า “น้องรุ้ง”

สภาพก็จะกลายเป็น “ท็อล์กกิ้ง” วิทเอ้าท์”สปีกกิ้ง”โดยปริยาย

 

หากมองอย่างเปรียบเทียบกับการชุมนุมที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม ของเสื้อเหลืองหัวเกรียนที่แยกวงเวียนใหญ่ กับการชุมนุมของน้องๆบนถนนสีลม หรือแยกเอ็นบีเค

บรรยากาศ สีสันและเสียงเปล่งร้องตะโกนก็แตกต่างกัน

เมื่อการดำรงอยู่แตกต่างกัน วิถีดำเนินแห่งชีวิตแตกต่าง ความคิดก็ย่อมจะแตกต่างกัน

การเคลื่อนไหวในทางการเมืองก็ไม่เหมือนกันไปด้วย