E-DUANG : อุบัติ แห่งประชาธิปไตย ตรง ข้อตกลง”ร่วม”จากประชาชน

ยิ่งติดตามภาพการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นของ”คณะราษฎร 2563” ในวันที่ 14 ตุลาคม ไม่ว่าจะเป็นของ”ราษฎร”นับแต่วันที่ 15 ตุลาคม เป็นต้นมา

ความรู้สึกอย่างหนึ่งเหมือนกับการติดตาม”เทศกาล”แห่งการแสดงมากกว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวในทาง”การเมือง”

แม้บรรยากาศจะเด่นชัดว่านำโดย”การเมือง”ก็ตาม

ความจริง บรรยากาศลักษณะเช่นนี้สัมผัสได้จากที่เห็นใน”19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร” ไม่ว่าจะโดยกลุ่ม LGBTQ ไม่ว่าจะโดยกลุ่มศิลปินปลดแอก

ใครที่เข้าร่วมจะพบเห็นการแสดงศิลปะทั้งที่เป็นภาพเขียน ทั้งที่เป็นการแสดงละคร ดนตรีวงเล็กๆ แวดล้อมด้วยคนที่มีรสนิยมเดียวกันอย่างร่าเริงหฤหรรษ์

บรรยากาศอย่างนี้จะไม่สามารถเห็นได้ในการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นเมื่อปี 2549 ไม่ว่าจะเป็นเมื่อปี 2557

แต่สำหรับในปี 2563 ดอกไม้ร้อยดอกกลับบานไสวไพจิตร

 

ยิ่งเมื่อผ่านการสลายการชุมนุมพร้อมกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในตอนรุ่งสางของวันที่ 15 ตุลาคมเป็นต้นมา องค์ประกอบ ของการชุมนุมก็แปรเปลี่ยน

ด้านหลักของผู้เข้าร่วมการชุมนุมคือ นักเรียน นิสิตนักศึกษา ประสานกับคนหนุ่มสาว วัยทำงาน

ไม่ว่าจะที่แยกราชประสงค์ ไม่ว่าจะที่แยกปทุมวัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ห้าแยกลาดพร้าว วงเวียนใหญ่ แยกอุดมสุขต่อเนื่องถึงบางนา

ความใฝ่ฝันของ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่อยากเห็นการเกิดขึ้นของ”แกนนอน” เพื่อเข้ามาแทนที่ “แกนนำ” ตามขนบดั้งเดิม ของการชุมนุมก็ปรากฏให้เห็น

การชุมนุมในวันที่ 17 ตุลาคม ไม่ว่าในส่วนกลาง ไม่ว่าในส่วนภูมิภาคมีความเด่นชัดอย่างที่สุด

      นั่นก็คือ การชุมนุมที่ผู้เข้าร่วมการชุมนุมอยู่ในฐานะแกนนำ

 

ไม่น่าเชื่อว่า ปรากฏการณ์ไร้แกนนำจะทำให้การชุมนุมอันเกิดขึ้นในสังคมไทยดำเนินไปเหมือนกับไม่มีกฎเกณฑ์ แต่ก็มีกฎเกณฑ์เกิดขึ้นได้ในทุกจังหวะก้าวของการเคลื่อนไหว

เพียงแต่เป็นกฎเกณฑ์อันมาจากข้อตกลงร่วมกันในที่ชุมนุม

เป็นการสร้าง”ประชาธิปไตย”จากสภาพความเป็นจริง เป็นประ ชาธิปไตย”ทางตรง”ดำรงอยู่อย่างแนบแน่นกับผู้ร่วมการชุมนุม

นี่คือความงดงามจากการชุมนุมของเยาวชน ประชาชน