E-DUANG : กลิ่นอาย รัฐประหาร โชยกรุ่น เหมือน 2549 เหมือนปี 2557

เมื่อเห็นการประกาศตัวของแกนนำของพันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แกนนำของมวลมหาประชาชนกปปส.

ระดมมวลชนไม่ว่าจะที่ท้องสนามหลวง ไม่ว่าจะที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เด่นชัดอย่างยิ่งว่าต้องการขวาง “คณะราษฎร 2563”

กลิ่นอายแห่งรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กลิ่นอายแห่ง รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็โชยกรุ่นจากลานพระบรมรูปทรงม้ายันท้องสนามหลวง

เป้าหมายของคำประกาศเหล่านี้มีความแจ่มแจ้งว่าต้องการจัดกำลังเพื่อบดขยี้และทำให้ภาพการชุมนุมของเยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษา ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ดำรงอยู่อย่างเป็นแซนด์วิช

ถูกประกบจากพลังอันเคยเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และมวลมหาประชาชนกปปส.

ในที่สุดก็นำไปสู่”รัฐประหาร”เหมือนเมื่อปี 2549 และ 2557

 

เพราะว่าหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 คมช.ก็ประกาศว่า ไม่ต้องการให้มีการปะทะระหว่างมวลชนต่างความคิดที่ออกมาเคลื่อนไหวเผชิญหน้ากัน

เช่นเดียวกับคำประกาศหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 คือไม่ต้องการให้ความขัดแย้งขยายตัวบานปลาย

คำถามก็คือ แล้ว”ความขัดแย้ง”ได้จบตามคำประกาศหรือไม่

คำตอบเรื่องนี้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคมช.รู้ดีที่สุด คำตอบเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐ มนตรีในปัจจุบันรู้ดีที่สุด

เพราะคนที่ออกมาประกาศดับเครื่องชนกับ”คณะราษฎร 2563” ในวันนี้ก็ล้วนเคยมีบทบาทอยู่กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อยู่กับมวลมหาประชาชนกปปส.

ในที่สุด วงจรทางการเมืองก็วนกลับไปที่เก่าสถานการณ์เดิม

ข่าวลือในเรื่อง”รัฐประหาร”จึงโชยออกมาเป็นระยะเหมือนกับก่อนเดือนกันยายน 2549 ก่อนเดือนพฤษภาคม 2557

 

ถามว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ผลเป็นอย่างไร คำตอบเห็นได้จากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อันนำมายังสถานการณ์ในเดือนตุลาคม 2563

คำว่า”เสียของ”จึงกลายเป็นบทสรุปอันซ้ำซากไม่แปรเปลี่ยน

เพียงแต่จะโยนความผิดให้กับใครจึงจะทำให้เกิดความเหมาะสมชอบธรรมเท่านั้น

เป็นกลิ่นอายอันโหมฮือกระพือขึ้นจากวันที่ 14 ตุลาคม