E-DUANG : กลไก แห่งระบบ รัฐสภาไทย กับเป้าหมาย แก้ รัฐธรรมนูญ

พลันที่”เยาวชนปลดแอก”ปรากฏขึ้น ตามมาด้วย”แฟล็ชม็อบ”ที่แพร่กระจายไปในขอบเขตทั่วประเทศนับแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมาได้ก่อให้เกิดผลสะเทือนเป็นอย่างสูงในทางการเมือง

ผลสะเทือนไม่เพียงแต่จะทำให้การ”ชู 3 นิ้ว”ในการเคารพธงชาติ การติดโบขาวต้านเผด็จการ

จะกลายเป็นปรากฏการณ์ในทางสังคมเท่านั้น

หากแต่ยังได้เกิดการเคลื่อนไหวในทางการเมืองตามมาหลายกรณีด้วยกัน

อย่างหนึ่งคือการแสดงท่าทีเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นต่อการชะลอและยับยั้งที่จะเดินหน้าในการจัดตั้งงบประมาณเพื่อนำไปสู่การซื้อเรือดำน้ำ และท่าทีที่จะต้องเข้าสู่การ ตรวจสอบอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้นในกรณีของการใช้มาตรา 40 ต่อกรณีเหมืองทองอัครา

และสุดท้ายที่เห็นก็คือ กรณีอันเกี่ยวกับ”รัฐธรรมนูญ”

พลันที่มีการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร นี่ย่อมเป็นวินาทีสำคัญแห่งการตรวจสอบ

 

ผลจากการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะจากพรรคร่วม รัฐบาล ไม่ว่าจะจากพรรคฝ่ายค้าน กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็เข้าสู่กระบวนการในทางรัฐสภา

เหมือนกับหัวรถจักรแห่งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญพร้อมที่จะขับเคลื่อนด้วยพลังอย่างเต็มที่

ถามว่าความคิดในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจากด้านของรัฐบาลเริ่มขึ้นอย่างไร ตอบได้เลยว่าเพราะเป็นเงื่อนไขหนึ่งของพรรค ประชาธิปัตย์ที่จะเข้าร่วมรัฐบาล

กระทั่ง รัฐบาลได้บรรจุเอาไว้ใน”นโยบายเร่งด่วน”ของรัฐบาลในการแถลงต่อรัฐสภาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562

จากเดือนกรกฎาคม 2562 มาถึงเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นเวลา 1 ปีเต็มแห่งการเริ่มต้น

กระบวนการต่อไปจึงจำเป็นต้องติดตามให้ความสนใจ

 

เป็นความสนใจติดตามว่ากระบวนการแก้ไขภายใต้ระบบรัฐสภาจะ สามารถสนองตอบต่อความเรียกร้องต้องการของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด

หรือว่าเสมอเป็นเพียงเวทีแห่งการต่อสู้เพื่อซื้อเวลาโดยที่มิได้มีเป้าหมายอันแจ่มชัด

เป็นคำถามที่ทุกพรรคการเมืองจักต้องเป็นผู้ให้”คำตอบ”