E-DUANG : คำประกาศ พลเมือง ดิจิทัล “อนาคต” เรา”กำหนด”เอง

ไม่ว่าคำประกาศของนิสิตนักศึกษาที่ว่า “เราต่อสู้เพื่ออนาคตของเรา เอง” ไม่ว่าคำยืนยันของนักเรียนที่ว่า “เราเป็นห่วงว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร”

เหมือนกับจะสะท้อนให้เห็นความกังวลในเรื่อง”ประชาธิปไตย” และ “เผด็จการ” อันเป็นเรื่องในทางการเมืองอย่างเป็นด้านหลัก

แต่ถ้าลงลึกไปในรายละเอียดก็จะเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่า ไม่ว่าความกังวลในเรื่องอนาคต ไม่ว่าความกังวลในเรื่องทางการเมือง สัมพันธ์อยู่กับวัฒนธรรมในทางความคิดอย่างแนบแน่น

คำถามก็คือ ปัญหาและความห่วงกังวลของนักเรียน นิสิตนักศึกษาเช่นนี้มิได้เพิ่งเกิดขึ้น ตรงกันข้าม เป็นปัญหาที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องมาแล้วยาวนาน

เพียงแต่ว่ามาปะทุขึ้นและขยายตัวอย่างกว้างขวางนับแต่การปรากฏตัวของ”เยาวชนปลดแอก”เมื่อตอนค่ำของวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเท่านั้น

      นั่นก็คือ นักเรียน นิสิตนักศึกษาเริ่มตระหนักว่า “อนาคต”เราควรเป็นผู้”กำหนด” หรือมีส่วนร่วมในการกำหนด

 

ผู้ใหญ่หลายท่านประมวลสภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นและเห็นตรงกันว่า ปัญหาในสังคมไทยหมักหมมมายาวนานแล้วแต่ที่รุนแรงเป็นอย่างมากก็จากสถานการณ์อันมาจากรัฐประหาร 2 ครั้ง

นั่นก็คือ รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 นั่นก็คือ รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

จากนั้นเมื่อเผชิญเข้ากับไวรัส โควิด-19 ก็ยิ่งสาหัส

ประกอบกับระยะหลังด้วยเทคโนโลยีอย่างใหม่ในยุคแห่งดิจิทัลได้สร้าง “พลเมืองดิจิทัล”ขึ้นมาผ่านสมาร์ทโฟน ได้ทำให้ช่องว่างของคนต่างรุ่นถ่างห่างออกไป

คนรุ่นใหม่เข้าสู่ความเป็น”พลเมืองดิจิทัล”ขณะที่คนรุ่นเก่าบางส่วนได้กลายเป็น”ผู้อพยพ”ในสังคมดิจิทัล

ตรงนี้เองที่ทำให้”ความขัดแย้ง”เกิดการปะทะอย่างรุนแรง

ปมเงื่อนอยู่ตรงที่บรรดา”พลเมืองดิจิทัล”เริ่มไม่ไว้วางใจต่อคนรุ่นก่อนและไม่แน่ใจว่าจะนำพาประเทศไปสู่อะไรกันแน่

 

หากสังเกตจากท่าทีและคำพูดของ”ผู้ใหญ่”ไม่ว่าในรัฐบาลไม่ว่าในโรงเรียนจะจับได้ว่า ยังมองเห็นปรากฏการณ์เหล่านี้เป็น”ม็อบมุ้งมิ้ง” และ”ม็อบวูบวาบ”

มาอย่างรวดเร็วก็จะฝ่อหายไปอย่างรวดเร็วเหมือนกับเพลง

จึงมิได้คิดจะแก้ไขอย่างจริง จึงละเลย เพิกเฉยและเลือกที่จะใช้อำนาจในการจัดการจับกุมและสกัดขัดขวาง