E-DUANG : ​สัญญาณ จับ บารมี ชัยรัตน์ ส่งตรงไปยัง “สมัชชาคนจน”

การออกหมายจับต่อ นายบารมี ชัยรัตน์ มีความละเอียดอ่อนไม่ยิ่งไปกว่าการออกหมายจับใบที่ 2 ต่อ นายอานนท์ นำภา

แม้ 2 คนนี้จะมีรากฐานแตกต่างกันเป็นอย่างมาก

นายอานนท์ นำภา เป็นทนายความ มีบทบาทเป็นอย่างสูงในห้วงนับแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และโดดเด่นมาก ยิ่งขึ้นหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ไม่เพียงในสถานะแห่ง”ทนายสิทธิมนุษยชน” หากแต่ยังเป็น”ผู้เล่น”ด้วยอย่างมีลักษณะอันเป็น”กัมมันตะ”

บทบาทของทนายสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในห้วงนับแต่สถาน การณ์เมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ทำให้ นายอานนท์ นำภา เข้าไปสัมพันธ์กับนักเคลื่อนไหวใน”กลุ่มเสื้อแดง”อย่างลึกซึ้ง

และเมื่อประสบกับสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ยิ่งทำให้ นายอานนท์ นำภา แปรตนเองจากบทบาทของทนาย ความเข้าสู่พรมแดนแห่งการเคลื่อนไหว

คำถามก็คือ กรณีของ นายอานนท์ นำภา ไปเกี่ยวกับกรณีของ นายบารมี ชัยรัตน์ ได้อย่างไร

 

นายบารมี ชัยรัตน์ เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีประสบการณ์ และความจัดเจนมากกว่า เพราะเขาเป็นผลิตผลของสถานการณ์ในเดือนตุลาคม

ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าจะเป็นสถาน การณ์เดือนตุลาคม 2519

พื้นที่ของ นายบารมี ชัยรัตน์ คือ พื้นที่ของ”สมัชชาคนจน”

ท่วงทำนองของ นายบารมี ชัยรัตน์ จึงเป็นท่วงทำนองของนักเคลื่อนไหวรุ่นเก่า แนบแน่นอยู่กับชาวบ้านในระดับรากหญ้า แต่ก็สา มารถเชื่อมประสานกับคนรุ่นใหม่ได้

ไม่ว่ารุ่นใหม่อย่าง นายรังสิมันต์ โรม ไม่ว่ารุ่นใหม่อย่าง ไผ่ ดาวดิน ขณะเดียวกัน ก็ไม่เคยเหินห่างไปจากสภาพความเป็นจริงของพ่อตู้แม่ตู้แห่ง”สมัชชาคนจน”

รากฐานของ นายบารมี ชัยรัตน์ จึงเป็นรากฐานที่อยู่ในชนบท สัมพันธ์กับกลุ่มคนระดับรากหญ้ามาอย่างยาวนาน

 

ไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นสมองก้อนโตอยู่เบื้องหลังการออกหมายจับต่อ นายอานนท์ นำภา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการรุกคืบไปยัง นายบารมี ชัยรัตน์

นี่จึงเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณในทางการเมืองอันแหลมคม

เท่ากับเป็นการส่งบัตรเชิญผ่าน”เยาวชนปลดแอก”ไปยังพ่อตู้แม่ตู้แห่ง”สมัชชาคนจน”โดยอัตโนมัติ