E-DUANG : บรรทัดฐาน ตรวจสอบ การเมือง ระหว่าง คำพูด กับ  การลงมือทำ

พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง นักการเมืองคนหนึ่ง เราจะตัดสินและให้คุณค่าความหมายจากพื้นฐานอะไร

จาก”แถลงการณ์”ของพรรค จาก”คำพูด”ของเขา

แถลงการณ์ของพรรคซึ่งมาจากการสรุปในที่ประชุมที่แน่นอนของฝ่ายนำ ของกรรมการบริหารพรรค ถือได้ว่าเป็นความคิดในลักษ ณะรวมหมู่ของพรรคอย่างเป็นทางการ

สามารถ “ประเมิน” สามารถให้ “ค่า”และความหมายได้ในระดับที่แน่นอนหนึ่ง

อย่างน้อยก็เท่ากับเป็นผลึกในทางปัญญาของพรรคพรรคนั้น

เช่นเดียวกับคำพูดของนักการเมืองคนหนึ่งย่อมมิได้มีรากฐานมาจากความว่างเปล่า ตรงกันข้าม ต้องมาจากความจัดเจน ต้องมาจากความสามารถในการประมวลและสรุปประสบการณ์

กลายมาเป็นคำพูด สะท้อนวิธีวิทยาและการสังเคราะห์สถาน การณ์และสภาพการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่”แถลงการณ์” และ”คำพูด”ก็เป็นเพียงบรรทัดฐานหนึ่ง

 

แถลงการณ์ของบางพรรคการเมืองอาจเอ่ยถึงประชาชนด้วยความเคารพ ด้วยความนอบน้อม ประกาศจะยืนอยู่กับประชาชน รักษาผลประโยชน์ของประชาชน

แต่คำถามอันแหลมคมเป็นอย่างมากก็คือ พรรคการเมืองนั้นยืนหยัดอยู่ฝ่ายเดียวกับประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่

คำตอบดีที่สุด เที่ยงธรรมที่สุด  คือ การกระทำที่เป็นจริง

นักการเมืองบางคนไม่ว่าจะอยู่ในฐานะนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะรัฐมนตรี ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะ ส.ส. สามารถเสกสรรปั้นแต่งถ้อยคำ รูปประโยคออกมาได้อย่างสละสลวย งดงาม

ฟังแล้วก็ชวนให้เคลิบเคลิ้ม หลงใหล แทบจะร้องกรี๊ดออกมา ณ เบื้องหน้า แต่คำถามที่ตามมาอย่างฉับพลันทันใดก็คือ ระหว่างคำพูดกับการกระทำของเขาเป็นอย่างไร

ที่ว่าไม่คุกคามประชาชนนั้น ไม่มีการคุกคามกลั่นแกล้งจริงหรือ

การกระทำภายหลังจากการเปล่งประกาศเป็นแถลงการณ์ เป็นคำพูดออกมาต่างหากคือคำตอบ คือคำอธิบาย

 

นับแต่การชุมนุมเมื่อตอนค่ำของวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม มีแถลงการณ์จากพรรคการเมือง มีคำพูดจากนักการเมือง

ทุกคำพูดล้วนอยู่ในการรับฟังของสังคม แต่จะจะสามารถเชือ่ถือได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติที่เป็นจริง

เมื่อท่านพูด คนจะฟัง เมื่อท่านลงมือทำ คนจะเชื่อ