E-DUANG : ความไม่เข้าใจ เป็นโรค อย่างยิ่ง ระหว่างคนรุ่นเก่า กับ คนรุ่นใหม่

ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของ”เยาวชนปลด แอก” ตั้งแต่เมื่อเห็น ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเมื่อเห็น ณ ลานพญานาคแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

กระนั้น ลักษณะในทางความคิดอันเกิดขึ้นและดำรงอยู่โดยอัตโนมัติก็คือ การยอมรับในจุดต่างและช่องว่างในทางความคิด

และเริ่มสัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรมว่า แม้สิ่งที่เกิดขึ้นในทางความคิดจะเป็นการดำรงอยู่ภายในพื้นที่เดียวกัน แต่ก็ดำเนินไปในลักษณะอันเป็นการทับซ้อน

พื้นที่นั้นเดิมคึกคักอย่างยิ่งในโลก”เสมือนจริง” แต่ก็เริ่มล่วงล้ำ กล้ำกรายเข้ามาในโลกแห่งความ”เป็นจริง”

ที่เคยมีเสียงท้าทายต่อ”ม็อบมุ้งมิ้ง” ต่อ”ม็อบฟันน้ำนม”โดยสบประสาทเป็นเชิงว่าเป็น”เกรียนคีย์บอร์ด” ไม่กล้าแสดงตัวออกมาในโลกแห่งความเป็นจริง

พลันที่พวกเขาสำแดงตัวตนออกมากลับเกิดอาการนะจังงัง

เห็นได้จากความตระหนกตกใจ เห็นได้จากความตื่นกลัว ราวกับว่าพวกเขาเหล่านั้นเดินทางมาจากโลกอื่น

 

ต้องยอมรับว่าบรรดา”ม็อบมุ้งมิ้ง”ทั้งหลายเขาปล่อยแสงในทางความคิดของพวกเขาอย่างต่อเนื่องในโลกแห่งทวิตเตอร์ ในโลกแห่งไลน์ ในโลกแห่งอินสตาแกรม มาอย่างยาวนาน

เห็นได้จาก # ที่พวกเขาเสนอขึ้นและทวีดเห็นด้วยซึ่งประกาศผ่านเทรนด์ทวิตเตอร์ ประเด็นแล้วประเด็นเล่า

ถามว่าเหตุใดเพียงไม่กี่วันหลังจากพวกเขาเปิดตัวผ่านการชุมนุมในตอนเย็นย่ำของค่ำวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บนถนนราชดำเนิน

จึงตามมาด้วยการชุมนุมที่ประตูท่าแพ เชียงใหม่ จึงตามมาด้วยการชุมนุมที่หน้าศาลหลักเมือง อุบลราชธานี

จากนั้นก็กระจายไป 100 กว่าครั้งใน 52 จังหวัด เป็นข้อเรียก ร้องเดียวกัน เป็นความรู้สึกอย่างเดียวกัน ราวกับเป็นคนๆเดียวกัน

นั่นก็คือ การย้ายจาก”ชุมชนออนไลน์”มาเป็น”ออฟไลน์”

 

เมื่อประสบเข้ากับเสียงอันดังมาจาก”ธรรมศาสตร์จะไม่ทน”ก็สัมผัสได้ในความหงุดหงิด ไม่พอใจ ผิดหวัง และสายตาที่มองไปยังเยาวชนคนรุ่นใหม่มากด้วยความแคลงคลาง กังขา

นี่สะท้อนอย่างเด่นชัดถึง “ช่องว่าง”และความไม่เข้าใจ

ไม่เข้าใจว่า “เด็กรุ่นใหม่”คิดอย่างไร ลืมไปแล้วว่า “วัยเยาว์”ของตนเป็นอย่างไร

จึงแทนที่จะพยายาม”เข้าใจ”หากแสดงท่าทีจะ”ทำลาย”