E-DUANG : อำนาจ”อื่น” กับ การปรับครม. อยู่เหนือ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จริงหรือที่ว่าอำนาจในการปรับครม.อยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะอันเป็นนายกรัฐมนตรี

อาจจริงในทาง”หลักการ”

เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี คือคนสุดท้ายที่จะตัดสินใจ โดยเฉพาะในการลงนามเพื่อเสนอแต่งตั้งและโยกย้าย

แต่หากดูจากสภาพความเป็นจริงนับแต่ ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล ลาออกจากหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทยเมื่อวันที่ 1 มิถุ นายน ก็เริ่มไม่แน่ใจในอำนาจที่มีอยู่ของนายกรัฐมนตรี

ในความเป็นจริงเมื่อพรรครวมพลังประชาชาติไทยมีมติเสนอชื่อ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เข้าดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงานแทน ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล

ทุกอย่างก็น่าจะเรียบร้อยและราบรื่นเพราะทุกอย่างล้วนอยู่ในอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี

แล้วเหตุใดเรื่องจึงยืดเยื้อมาจนถึงเดือนกรกฎาคม

 

ความเป็นจริงหนึ่งซึ่งสำคัญที่ไม่เพียงแต่พรรครวมพลังประชาชาติ ไทยจะต้องร้องเพลงรอ เพราะแม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ทำอะไรไม่ได้

นั่นก็คือ การจัดระเบียบ”ภายใน”ของพรรคพลังประชารัฐ

ความจริงมีเรื่อง 2 เรื่องอันทำให้ปัจจัยการปรับครม.จำเป็นต้องรอและเมื่อผ่านมาแล้วก็น่าจะเรียบร้อยและราบรื่น

1 คือปัจจัยการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค

การประชุมใหญ่สามัญประจำปีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนมีคำตอบ มาแล้วว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คือ หัวหน้าพรรค

แต่แล้วอีกปัจจัย 1 ก็ตามอันทำให้ต้องทอดเวลาในการปรับออกไปเมื่อ นายอุตตม สาวนายน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายสุวิทย์ มาษินทรีย์ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ออกจากพลังประชารัฐ

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะระบุว่าเป็นการนับ 1 แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะถึง 10 หรือว่าจะถึง 1000

 

ท่ามกลางการเคลื่นไหวของเวลาของการปรับครม.จึงเริ่มทำให้เกิดความสงสัยว่า เวลาที่ทอดยาวออกไปสะท้อนอะไร

สะท้อน”อำนาจ”ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หรือสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงว่ายังมีอำนาจ”อื่น”ที่เหนือกว่าสถานะแห่งความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ามีอยู่จริง

อำนาจ”อื่น”ต่างหากที่บงการและกำหนดทุกก้าวย่าง