E-DUANG : การศึก มิหน่ายเล่ห์ กลยุทธ์ การศึก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คล้ายกับว่าการสามารถเปลี่ยนหัวหน้าพรรคจาก นาย อุตตม สาวนายน มาเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เปลี่ยนเลขาธิการพรรคจาก นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ มาเป็น นายอนุชา นาคาศัย

จะเป็นชัยชนะจากการรุกอย่างต่อเนื่อง

แต่ก็ต้องยอมรับว่า ชัยชนะนี้เสมอเป็นเพียงชัยชนะภายในพรรคพลังประชารัฐ ยังมิได้เป็นชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เนื่อง จากเป้าหมายอย่างแท้จริงอยู่ที่ตำแหน่งในครม.

เป้าหมายขั้นต่อไปก็คือ จะรุกและกดดันเข้าไปส่งผลให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงภายในครม.ได้หรือไม่

การชู นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ คือการโยนหินถามทาง

เท่ากับเป็นการหยั่งเชิงไปยังอีกฝ่ายว่า การแหย่หนวดเสือด้วยชื่อชั้นของ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ จะได้รับปฏิกิริยาอย่างไรหวนกลับมา

เหมือนกับต้องการหยั่งเพียง”กลุ่ม 4 กุมาร” แต่ผลสะเทือนกลับกว้างไกลอย่างยิ่ง

 

อย่างน้อยก็สัมผัสได้ในปฏิกิริยาอันร้อนแรงจาก นายสมคิด จาตุศรี พิทักษ์ ซึ่งหงุดหงิดเป็นอย่างมากกับชะตากรรมของ”กลุ่ม 4 กุมาร”ที่นำโดย นายอุตตม สาวนายน

อย่างน้อยก็สัมผัสได้ในจังหวะก้าวทางการเมืองที่”กลุ่ม 4 กุมาร”กำหนดขึ้นเฉพาะหน้า

นั่นก็คือ ไม่มีใครยอมถอยออกจาก”ตำแหน่ง”รัฐมนตรี

ไม่ว่าจะเป็น นายอุตตม สาวนายน ไม่ว่าจะเป็น นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ไม่ว่าจะเป็น นายสุวิทย์ เมษินทรีย์

ยังคงทำงานในฐานะ”รัฐมนตรี”เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

นี่ย่อมเป็นกลยุทธ์อย่างเดียวกันกับที่ ม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล ใช้กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย นั่นก็คือ ยอมสูญเสียตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่ยังไม่ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี

ปล่อยให้เป็นดุลพินิจและการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

 

ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันอย่างต่อเนื่องว่าจะยังไม่มีการปรับครม.

ท่าทีตอกย้ำอีกคำรบหนึ่งผ่าน”ฤาษีเกวาลัน”

ตอกย้ำถึงระนาบว่าหากมีการแตะ”ครม.เศรษฐกิจ”สถานะของรัฐบาลอาจสั่นคลอนถึงขั้นขาดเสถียรภาพ

สัญญาณนี้ส่งตรงไปยังทุกพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นพรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย